จับตา : นครเฉิงตูจะเชื่อมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยได้หรือไม่ (ตอนที่ 1)
11 Nov 2019ในปี 2562 นครเฉิงตูและมหานครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังคงความสำคัญในฐานะเมืองยุทธศาสตร์ตาม “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน โดยได้ขยายเครือข่ายเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงจีนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของหอการค้าอเมริกันในจีนประจำปี 2562 ระบุว่า ในปี 2561 บริษัทชั้นนำของโลก Fortune 500 ตั้งอยู่ในนครเฉิงตูมากถึง 285 บริษัท สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในดึงดูดการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ของโลกจำนวนมากและนครเฉิงตูกำลังจะกลายเป็นเมืองใหญ่ระดับโลก
“นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เป็นความคิดริเริ่มที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าของจีนกับประเทศต่าง ๆ ในโลกทั้งทางบกและทางทะเล โดยเริ่มต้นด้วยเส้นทางเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลาง ตามด้วยเส้นทางทางทะเลที่เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ทั้งนี้ เครือข่ายเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง อาทิ ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) โครงการเส้นทางบกมีชื่อเป็นทางการว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt: SREB) ส่วนเส้นทางทะเล เรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกนโยบายนี้ในภาษาจีนว่า 一带一路หรือ“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ปัจจุบันประกอบด้วยเส้นทางทางบก 6 เส้นทางและเส้นทางทางทะเล 1 เส้นทาง ดังนี้
เส้นทางบก 6 เส้นทาง
(1) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกจีนถึงตะวันตกรัสเซีย
(2) เส้นทางจีน- มองโกเลีย- รัสเซียตะวันออก
(3) เส้นทางตะวันตกจีน- เอเชียกลาง- ตุรกี
(4) เส้นทางจีน- แหลมอินโดจีน- สิงคโปร์
(5) เส้นทางจีน- ปากีสถาน
(6) เส้นทางจีน – เมียนมา- บังกลาเทศ- อินเดีย
เส้นทางทะเล1 เส้นทาง
- ชายฝั่งของจีน – สิงคโปร์- มาเลเซีย– อินเดีย – ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเฉิงตู-ยุโรป หรือ “หรงโอว” 蓉欧ถือเป็นเส้นทางโลจิสติกส์สำคัญที่เชื่อมระหว่างจีนตะวันตกเฉียงใต้กับภาคพื้นยุโรป เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 มีจุดเริ่มต้นจากเขตชิงไป๋เจียง นครเฉิงตู มุ่งหน้าสู่ด่านอาลาซานโข่ว มณฑลซินเจียง จากนั้นเข้าสู่คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และสิ้นสุดสถานีปลายทางที่เมืองลอดซ์ โปแลนด์ ระยะทางทั้งสิ้น 9,826 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 10-13 วัน ซึ่งประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเลถึง 3 เท่า และมีค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งในแปดของการขนส่งทางอากาศ ทำให้ตั้งแต่ปี 2559-2561 นครเฉิงตูครองตำแหน่งแชมป์เมืองท่าที่มีจำนวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางรางสูงสุดติดต่อกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ ปัจจุบัน นอกจากเส้นทางสายหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกสองเส้นทางขนส่งสินค้าที่เชื่อมนครเฉิงตูกับภูมิภาคยุโรปซึ่งสรุปได้ดังนี้
- เส้นทางตอนกลาง: นครเฉิงตู – เมืองลอดซ์ ประเทศโปแลนด์ ระยะทาง 9,826 กิโลเมตรใช้เวลา 10 – 12 วัน นอกจากนี้ยังมีการขยายเส้นทางไปยังเมืองคูทโน ประเทศโปแลนด์ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมืองทิลเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ฯลฯ และจุดสิ้นสุดของเมืองยุโรป
- เส้นทางตอนใต้: นครเฉิงตู – นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ออกจากท่าการรถไฟนานาชาติเฉิงตู ผ่านท่าเรือคอร์โกสซินเจียง คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย ฯลฯ จนมาถึง เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีด้วยระยะทางประมาณ13,000 กิโลเมตร ครอบคลุมถึง เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เอเชียใต้และตอนใต้ของยุโรปใช้เวลา 13 – 15 วัน
- เส้นทางตอนเหนือ: นครเฉิงตู – กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ออกเดินทางจากเฉิงตูชิงไป๋เจียง ผ่านอาลาซานโข่ว คาซัคสถาน ถึงรัสเซีย และสถานีสุดท้ายถึงโรงงาน Geely Factory (อุตสาหกรรมยานยนต์) ตั้งอยู่ เมือง Minsk เบลารุส อีกทั้งเส้นทางนี้ยังครอบคลุมเครือรัฐเอกราช และประเทศในยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ด้วยระยะทางประมาณ 8,866 กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ 12 วัน
ที่มา: เว็บไซต์ big5.cri.cn และศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
“หรงโอว+” เส้นทาง “รางบวกเรือ” เชื่อมระหว่างนครเฉิงตูกับไทย
รัฐบาลมีนโยบายให้พัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าหรงโอวให้เชื่อมโยงลงทางทิศใต้ สู่ทะเลเพื่อส่งสินค้าทางเรือต่อไปยังอาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ถือเป็นการบูรณาการการขนส่งทางรางและทางทะเลที่เรียกว่า “หรงโอว+” โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากสถานีรถไฟชิงไป๋เจียง นครเฉิงตู ถึงท่าเรือในเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ใช้ระยะเวลา 55 ชม. จากนั้นใช้การขนส่งทางทะเลจากท่าเรือเมืองชินโจว ต่อไปท่าเรือสำคัญในประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ คูเวต อิสราเอล เอเชียใต้ อาทิ บังกลาเทศ และประเทศในอาเซียน อาทิ เวียดนาม กัมพูชาและไทย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการขนส่งรวมทั้งสิ้นประมาณ 16 -20 วันประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทางบกถึง 11 วันการเปิดเส้นทางขนส่งสินค้า “หรงโอว+” ทำให้เส้นขนส่งระบบรางระหว่างประเทศของนครเฉิงตูจะมีลักษณะคล้ายรูปอักษร Y โดยแบ่งเป็นเส้นทางเฉิงตู-ยุโรป (ทิศตะวันตก) เฉิงตู-รัสเซีย(ทิศเหนือ) และเฉิงตู-อาเซียน (ทิศใต้) นครเฉิงตูจะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง “หรงโอว+” ส่งออกสินค้าที่สำคัญไปยังประเทศในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน ได้แก่ เครื่องขุดเจาะน้ำมัน เครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมหนัก อุปกรณ์ที่ใช้ในสถานีเติมน้ำมัน อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เคมีภัณฑ์ อาหารสำเร็จรูป และเสื้อผ้า ขณะเดียวกัน ประเทศในอาเซียนจะสามารถส่งออกสินค้าประเภทอาหารเกษตรแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง ชิ้นส่วนสินค้าไอที และแผงวงจรไฟฟ้า สู่นครเฉิงตูรวมถึงจีนตอนใน ตลอดจนสามารถส่งสินค้าดังกล่าวต่อไปยังยุโรปได้อีกด้วย ดังนั้น “หรงโอว+” จึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมณฑลเสฉวนภายใต้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road)” เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และในด้านอื่น ๆ กับประเทศไทย
สำหรับเส้นทาง “หรงโอว+” ในช่วงเริ่มต้นจะให้บริการขนส่งสินค้าสัปดาห์ละ 1 เที่ยว และหลังจากนั้นจะเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2เที่ยว โดยในปี 2560 ได้ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง “หรงโอว+” รวมทั้งสิ้น 1,012 เที่ยว/ปี อีกทั้งยังมีการเพิ่มรอบการให้บริการขนส่งสินค้า ผ่านเส้นทางเฉิงตู – ชินโจว สัปดาห์ละ 2 เที่ยว ถือได้ว่าเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามากเป็นอันดับต้นของประเทศปี 2561 ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง “หรงโอว+” รวมทั้งสิ้น 1,519 เที่ยว/ปี ติดอันดับที่หนึ่งจำนวนเที่ยวการขนส่งระหว่างประเทศของจีนต่อกันเป็นระยะเวลาสามปี เพิ่มขึ้น 85%เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจุบันขบวนรถไฟเฉิงตู-ยุโรป (หรงโอว+) ขยายสถานีปลายทางกว่า 24แห่ง อีกทั้งนครเฉิงตูมีเส้นทางเชื่อมต่อในประเทศไปยังเมืองที่มีท่าเรือส่งออกกว่า 14 แห่ง เชื่อมต่อเส้นทางขนส่งระบบราง 7 แห่ง และยังเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งทางทะเล 5 แห่ง ในปี 2562 รัฐบาลเฉิงตูมุ่งขยายช่องทางไปยังประเทศที่อยู่ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางนโยบายดังกล่าว โดยผ่านไปยังท่าเรือแหลมฉบังของไทยและผ่านไปยังมาเลเซีย เฉิงตูจึงเน้นการสร้างการบริการทางระบบขนส่งที่มีคุณภาพสูง มีประสิทธิภาพ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลเสฉวนยังเน้นการผลักดันและพัฒนานครเฉิงตูให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ “Belt and Road” โดยสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว อาทิ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น อู่ฮั่น คุนหมิง เซี่ยะเหมิน กวางโจว ฉินโจว ชิงเต่า และเทียนจิน รวมทั้ง เมืองเลียบชายฝั่งทะเลต่าง ๆ และจะขยายไปถึงเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง และเขตเศรษฐกิจปั่วไห่ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งระหว่างตะวันออกและตะวันตกของจีนตามเส้นสายไหมทางทะเล และยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งไปยังประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมไปถึงฮ่องกง มาเก๊า และประเทศในอาเซียน จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางขนส่งสินค้า “หรงโอว+” เป็นอีกหนึ่งเส้นทางขนส่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ในพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ทำให้นครเฉิงตูกลายเป็น “ศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการขนส่งแบบบูรณาการของจีนตะวันตก” ที่สามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้อย่างเต็มตัว อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มช่องทางการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนและนักธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการสินค้าไทย ที่จะสามารถอาศัยช่องทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าเพื่อกระจายไปสู่ตลาดผู้บริโภคชาวจีนในทุกภูมิภาค รวมถึงผู้บริโภคในยุโรปอีกด้วย
ศักยภาพท่าเรือชินโจว (钦州) สำหรับการขนส่งสินค้าจากไทย
เขตท่าเรือชินโจว ได้รับการอนุมัติจัดตั้งเมื่อ 29 พฤษภาคม 2551 เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ตั้งอยู่ที่เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกวางสี ในมณฑลกว่างซี เขตการค้าเสรีชินโจวมีอาณาเขต 58.19 ตารางกิโลเมตร ติดกับฮ่องกง มาเก๊า กวางตุ้งและอาเซียน โดยเป็นสถานีศูนย์กลางแห่งที่ 12 ของประเทศ ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ดำเนินงานเกี่ยวกับท่าเรือ การขนถ่ายสินค้าในปี 2562 คือ 1.05 ล้านตู้และการขนถ่ายสินค้ารายวันกว่า 20 ขบวน โดยสินค้านำเข้าและส่งออกส่วนใหญ่ คือ รถยนต์ เบียร์และไวน์ สินค้าแปรรูปฯลฯ และเนื่องจากนโยบายและความได้เปรียบด้านพื้นที่ของเขตท่าเรือชิวโจว ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศได้ ข้อมูลปี 2562 ในช่วงครึ่งปีแรก มีการลงนามความร่วมมือทั้งสิ้น 47 โครงการ มูลค่าการลงทุนสูงถึง 4,063,400 ล้านหยวน การลงทุนในโครงการมากกว่า 100 ล้านหยวน เปิดตัวไปแล้วกว่า 9 โครงการใหญ่ มูลค่าการลงทุนรวม 325,200 ล้านหยวน ด้านเส้นทางและการขนส่งทางเรือรวมถึงทางรถไฟ มีการสร้างท่าเทียบเรือ 39 แห่งและมีการเปิดเส้นทางการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในและต่างประเทศทั้งสิ้น 42 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมท่าเรือที่สำคัญทั้งหมดในเอเชียและประเทศในแถบอาเซียน
ท่าเรือแห่งนี้เป็นแหล่งนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน – อาเซียน ครอบคลุมถึง 42 ท่าเรือในประเทศอาเซียน ในปี 2560 สินค้าชุดแรกที่ถูกขนส่งจากไทยมายังท่าเรือแห่งนี้ ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว นมอัดเม็ดรสทุเรียน เครื่องต้มยำ หมอนยางพาราและของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสินค้าชุดแรกได้รับความสนใจจากตลาดในจีนอย่างมาก เขตท่าเรือชินโจวยังกระตุ้นปริมาณการบริโภคสินค้าไทย โดยการจัดนิทรรศการแสดงสินค้า เวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยงานดังกล่าวจะช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายและนำเข้าสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องและช่วยส่งเสริมการค้า SMEs ของ จีน – อาเซียน ได้ ผู้ประกอบการจากประเทศอาเซียนสามารถขนส่งสินค้าจากประเทศตนมายังจีนได้ โดยท่าเรือแห่งนี้จะให้บริการในด้านให้คำปรึกษาทางกฎหมาย พิธีการศุลกากรและใบอนุญาตนำเข้า ขณะเดียวกันก็มีทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในการช่วยบริการด้านการจัดจำหน่าย เช่น ร้านค้าสินค้านำเข้า ศูนย์ขายตรงสินค้าระหว่างประเทศ โดยพื้นที่ท่าเรือชินโจว จะช่วยด้านการขยายตลาดในจีนสำหรับผู้ประกอบการต่างประเทศ ในอนาคต 5 ปีข้างหน้า จะนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับอาหารแช่แข็ง เช่น ปีกไก่แช่แข็ง ขาไก่แช่แข็ง อาหารทะเล ผลไม้ จากไทย และให้มีปริมาณการขนส่ง 3,000 ตู้ต่อปี โดยประมาณ 72,000 ตัน และผลักดันเส้นทางการค้าเชื่อมจีน – อาเซียน ที่ราคาถูกและประหยัดเวลามากที่สุด
โอกาสการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) กับ “หรงโอว+” และนครเฉิงตู
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์จำกัด และพันธมิตรได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาท เพื่อเริ่มโครงการครั้งประวัติศาสตร์นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยาน ถือเป็นการเชื่อมสองสนามบินหลักของไทยกับพื้นที่ EEC อย่างไร้รอยต่อ
โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับพื้นที่ EEC นอกจากดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC แล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะใช้ประโยชน์จากนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน เชื่อมต่อกับ “หรงโอว+” และ Chengdu International Railway Port ในการกระจายสินค้าไปทั่วจีน ยุโรป เอเชียกลาง และส่วนอื่น ๆ ของโลก ที่ช่วยย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือระหว่างผู้แทนของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูและผู้บริหารของเขตการค้าเสรีชิงไป๋เจียง นครเฉิงตู เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ผู้บริหารของเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีฯ แจ้งด้วยว่า พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือชินโจวมายังนครเฉิงตู โดยเสนอให้ไทยจัดตั้งองค์กรความร่วมมือด้านธุรกิจโลจิสติกส์ที่เขตการค้าเสรีแห่งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างไทยและจีน ปัจจุบันสินค้าไทยที่ส่งผ่านเส้นทางนี้ ได้แก่ หมอนยางพารา น้ำผลไม้ตราชบา สินค้าเถ้าแก่น้อย ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยยังถือว่ามีปริมาณน้อย จึงมีความสนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเขตชิงไป๋เจียงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) ด้วย
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
บทส่งท้าย
ข้อมูลข้างต้นถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนไทยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) ใช้ประกอบการพิจารณาเลือก “หรงโอว+” เป็นช่องทางที่มีศักยภาพในส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทยเข้าสู่เครือข่ายระบบการขนส่งทางรางของจีนตามนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือเส้นทางสายไหมยุคศตวรรษที่ 21 โดยขณะนี้โครงการพัฒนาระบบการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบินของไทย ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบมีความชัดเจนมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งแบบบูรณาการทั้งรถไฟและท่าเรือแบบไร้รอยต่อ ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์การทางเศรษฐกิจระดับโลก ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสของไทยในการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC) กับเส้นทางรถไฟ “หรงโอว+” และเขตการค้าเสรีและศูนย์กระจายสินค้ารูปแบบ one stop service ของเขตชิงไป๋เจียง นครเฉิงตูจึงมีความสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน
ทั้งนี้ บทความตอนที่ 2 จะกล่าวถึงเขตการค้าเสรีชิงไป๋เจียงและวิธีการนำสินค้าไทยเข้ามาตีตลาดในเฉิงตูและเมืองใกล้เคียงผ่านท่าเรือชินโจวและทางรถไฟ “หรงโอว+” โปรดติดตามตอน 2 เร็ว ๆ นี้……….…
รวบรวมข้อมูล/บทวิเคราะห์โดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู
ภายใต้การกำกับดูแลของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
11 พฤศจิกายน 2562
แหล่งอ้างอิง
- AmCham China White Paper 2019 American Business in China
- เว็บไซต์กลางของจีนเกี่ยวกับ นโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง https://www.yidaiyilu.gov.cn
- เว็บไซต์เกี่ยวกับข้อมูล EEC https://www.eeco.or.th
- https://thaipublica.org/2017/05/pridi48/
- http://www.chengdu.gov.cn
- https://www.sohu.com/a/242740434_330146
- http://www.zgcdql.com/xinwen/52822.html
- http://world.people.com.cn/n1/2017/0331/c1002-29183448.html
- http://www.nbd.com.cn/articles/2017-03-01/1080382.html
- http://www.djy.gov.cn/djyszfmhwz/c131069/2019-01/21/content_336fc72e3bf440af8ed9fc50dd0f1cshtml
- https://cd.focus.cn/zixun/68717ff27bb427fhtml
- https://www.hminvestment.com/NewsDetails/16501