CRRC Zhuzhou พัฒนาอุปกรณ์ขับเคลื่อนของรถไฟแม็กเลฟจีนความเร็ว 600 กม./ชม.

23 Jul 2021

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 หนังสือพิมพ์ Hunan Daily รายงานข่าวการพัฒนาแม่เหล็กไฟฟ้าและมอเตอร์เชิงเส้นของบริษัท CRRC Zhuzhou Electric จำกัด ในเมืองจูโจว มณฑลหูหนาน ซึ่งนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ขับเคลื่อนหลักของรถไฟแม็กเลฟ (Maglev) ความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่เพิ่งออกจากสายการผลิตในเมืองชิงต่าวไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ ความลับที่ทำให้รถไฟแม็กเลฟลอยตัวเหนือรางนั้น เกิดขึ้นจาก “แม่เหล็กไฟฟ้า” ซึ่งเปรียบเสมือนขาที่ไร้เงา และช่วยให้ตัวรถลอยตัวเหนือรางได้อย่างมั่นคงและบินโฉบใกล้พื้นด้วยความเร็วสูง โดยรถไฟแม็กเลฟความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใช้แม่เหล็กไฟฟ้าลอยตัวที่มีช่องว่างของแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ที่ 12.5 มิลลิเมตร กระแสกระตุ้นสนามแม่เหล็ก (Exciting Current) 30Ah แรงดูดของแม่เหล็กไฟฟ้า 45kN และมีความทนทานต่อการแตกร้าวได้ดี นอกจากนี้ แม่เหล็กไฟฟ้ายังมีฟังก์ชั่นการผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อความเร็วของรถถึงระดับที่กำหนด รวมถึงยังสามารถใช้พลังงานฮาร์มอนิกมาชาร์จแบตเตอรี่ในการเก็บไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีกระแสไฟฟ้ารองรับการทำงานสำหรับความเร็วสูงของรถไฟได้อย่างเพียงพอ

ขณะเดียวกัน กุญแจสำคัญในการทำให้รถไฟวิ่งได้ยังเกี่ยวข้องกับ “มอเตอร์เชิงเส้น” โดยรถไฟแม็กเลฟความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใช้มอเตอร์เชิงเส้นสเตเตอร์แบบยาว (long stator linear motor) เป็น “หัวใจสำคัญ” ของการขับเคลื่อน ด้วยการอาศัยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมอเตอร์ให้เคลื่อนที่ในทางตรง และพลังงานไฟฟ้าจะถูกแปลงเป็นพลังงานจลน์เพื่อให้รถไฟเคลื่อนที่ไปข้างหน้าโดยไม่ต้องสัมผัสรางรถไฟ นอกจากนี้ มอเตอร์ดังกล่าวยังมีคุณสมบัติเด่นอื่น ๆ อีก เช่น การขับเคลื่อนขึ้นทางลาดได้ดี และเสียงรบกวนต่ำ

ในด้านการขนส่ง รถไฟแม็กเลฟความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสามารถเติมเต็มช่องว่างความเร็วระหว่างเครื่องบินและรถไฟความเร็วสูงแบบราง ช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งให้มีความหลากหลาย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการขนส่งของจีนอีกด้วย

ที่มา: https://hnrb.voc.com.cn/hnrb_epaper/html/2021-07/21/content_1530322.htm?div=-1
https://www.163.com/dy/article/GFGPPN3K0550HHWE.html

 

หูหนาน รถไฟแม็กเลฟ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน