กว่างซี-เวียดนาม เปิดด่านสากลทวิภาคีเพิ่มใหม่ 2 แห่ง กรุยทางสู่ด่านสากลระหว่างประเทศในอนาคต

14 Mar 2025

วันนี้ บีไอซี ขอนำท่านผู้อ่านไปเกาะติดปฏิบัติการ ‘Mission Possible’ ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับภารกิจ “ประตูสู่อาเซียน” ที่รัฐบาลกลางมอบหมายให้กับเขตปกครองตนเองแห่งนี้ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน

“เวียดนาม” ในฐานะชาติเพื่อนบ้านอาเซียนของจีน (กว่างซี) จึงเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของการกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนกับอาเซียน

กล่าวได้ว่า…. เขตฯ กว่างซีจ้วงกับเวียดนาม มีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยมีการจัดตั้งกลไก “การประชุมคณะทำงานร่วม” (Joint Working Committee) ระหว่างผู้นำเขตฯ กว่างซีจ้วงกับ 4 จังหวัดชายแดนเวียดนาม ได้แก่ ฮาซาง (Hà Giang) กว๋างนิญ (Quảng Ninh) ลางเซิน (Lạng Sơn) กาวบั่ง (Cao Bằng) เป็นกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ โดยสองฝ่ายผลัดกันเป็นเจ้าภาพทุกปี การประชุมคณะทำงานดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่และการบริหารงานที่เป็นภารกิจที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลท้องถิ่นสองฝ่าย

จากข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีแนวพรมแดนติดต่อกับเวียดนามยาว 1,020 กิโลเมตร ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เขตฯ กว่างซีจ้วงกับ 2 จังหวัดชายแดนเวียดนาม ได้ร่วมกันเปิดด่านทวิภาคี 2 แห่ง ดังนี้

  • 25 กุมภาพันธ์ 2568 จีน-เวียดนาม ได้จัดพิธีเปิดช่องตรวจคนเข้าเมือง “ด่านต้งจง (Dongzhong Border Gate/峒中口岸) เมืองฝางเฉิงก่าง เขตฯ กว่างซีจ้วง – ด่านหว้าโม (Hoành Mô) จ. กวางนิญ (Quảng Ninh) เวียดนาม
  • 27 กุมภาพันธ์ 2568 จีน-เวียดนาม ได้จัดพิธีเปิด “ด่านซั่วหลง (Shuolong Border Gate/硕龙口岸) เมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง – ด่านเล้ยแหวน (Lý Vạn) จ. กาวบัง (Cao Bằng) เวียดนาม เป็นด่านสากล

รู้จักด่านต้งจง

ด่านต้งจง ตั้งอยู่ในตำบลต้งจง เขตฝางเฉิง เมืองฝางเฉิงก่าง เขตฯ กว่างซีจ้วง อยู่ตรงข้ามกับด่านหว้าโม จ. กวางนิญ ของประเทศเวียดนาม อยู่ห่างจากนครหนานหนิงราว 250 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ราว 3 ชั่วโมง 40 นาที

“ต้งจง” เป็นด่านทวิภาคีที่แยกจุดให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) “ด่านต้งจง” เป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Checkpoint) สำหรับชาวจีนและชาวเวียดนาม และ (2) “ช่องทางหลีหั่ว” (Lihuo Channel/里火通道) เป็นด่านศุลกากร (Customs) ที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าจีนและสินค้าเวียดนาม

  • เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รัฐบาลกลางได้อนุมัติให้ยกฐานะเป็น “ด่านประเภท 1” เป็นด่านทวิภาคีจีน-เวียดนาม
  • เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ด่านทางบกต้งจง (รวมช่องทางหลีหั่ว) ได้ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับร่วมจากส่วนกลาง
  • เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ด่านต้งจง (รวมช่องทางหลีหั่ว) – ด่านหว้าโม (รวมช่องทางบั๊กฟองเซน /Bắc Phong Sinh) ได้เปิดใช้งานและมีพิธีปล่อยขบวนรถบรรทุกสินค้าผ่านด่านอย่างเป็นทางการ
  • เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีพิธีเปิดใช้งาน “ช่องทางตรวจคนเข้าเมืองด่านต้งจง” หรือ ด่าน ตม. อย่างเป็นทางการ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางจีน-เวียดนามในพื้นที่ ไม่ต้องไปใช้ด่านพื้นที่ใกล้เคียง

ช่องทางตรวจคนเข้าเมืองด่านต้งจง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 5 แสนคน/ครั้ง และรถผู้โดยสาร 3 หมื่นคัน/ครั้ง ภายในอาคารตรวจคนเข้าเมืองมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel) เป็นอีกด่านที่ใช้ระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยการเชื่อมโยงระบบข้อมูลศุลกากรกับข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองไว้ในโครงข่ายเดียวกัน ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพการบริการ ยกระดับประสิทธิภาพการผ่านด่านให้มีความสะดวกรวดเร็ว คาดว่า จะมีผู้โดยสารเข้า-ออกปีละ 1.22 แสนคน/ครั้ง

ปี 2567 ด่านทางบกต้งจง (รวมช่องทางหลีหั่ว) มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ารวม 5.01 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.77 เมื่อเทียบจากปีก่อน (YoY) มูลค่าสินค้าผ่านด่าน 13,178 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.21 (YoY) ขณะที่ปริมาณรถผ่านเข้า-ออก 4.05 แสนคัน/ครั้ง (รวมรถขนส่งขนาดเล็ก) เฉลี่ยวันละ 1,110 คัน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.70 (YoY)

รู้จักด่านซั่วหลง

ด่านซั่วหลง ตั้งอยู่ในตำบลซั่วหลง อำเภอต้าซิน เมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง อยู่ตรงข้ามกับด่านเล้ยแหวน  จ.กาวบัง ของประเทศเวียดนาม อยู่ห่างจากนครหนานหนิง 230 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ราว 2 ชั่วโมง 50 นาที

“ซั่วหลง” เป็นอีกหนึ่งด่านสากลทางบกของกว่างซีที่แยกจุดให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) “ช่องทางซั่วหลง” เป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Checkpoint) สำหรับนักท่องเที่ยวและรถโดยสาร สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 1 ล้านคน/ครั้ง และ (2) “ช่องทางเหยียนอิ้ง” (Yanying Channel/岩应通道) เป็นด่านศุลกากร (Customs) ที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าและการค้าชายแดน มีช่องจราจร ‘เข้า 4 ออก 2’ สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้มากกว่าปีละ 2.66 ล้านตัน และรองรับปริมาณรถบรรทุกได้มากกว่าปีละ 1.2 แสนคัน/ครั้ง

ด่านซั่วหลง ได้พัฒนาระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เป็นการรวมระบบ (System Integration) ข้อมูลศุลกากรกับข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองไว้ในโครงข่ายเดียวกัน และโมเดลการทำงานแบบตรวจสอบและตรวจปล่อยร่วมของศุลกากรและ ตม. แบบเบ็ดเสร็จ ณ ไม้กั้นเดียว ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพการบริการ ยกระดับประสิทธิภาพการผ่านด่านให้มีความสะดวกรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ด่านซั่วหลงมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับด่านสากลทางบกแห่งอื่นในกว่างซี โดยตั้งอยู่ระหว่างด่านโหย่วอี้กวาน (เมืองระดับอำเภอผิงเสียง) กับด่านหลงปัง (เมืองไป่เซ่อ) โดยตั้งอยู่ลึกเข้าไปด้านในของแผนที่พรมแดนจีนกับเวียดนาม การเดินทางจากกรุงฮานอย –ด่านเล้ยแหวน จังหวัดกางบัง (ตรงข้ามด่านหลงซั่ว) มีระยะทางราว 340 กิโลเมตร

ดังนั้น เมื่อพิจารณาด้านการค้าและการขนส่งสินค้า จึงเป็นไปเพื่อป้อนอุตสาหกรรมในพื้นที่เป็นหลัก อาทิ สินแร่ลิเทียมเพื่อการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมแมงกานีส และผลิตภัณฑ์การสื่อสารด้วยใยแก้วนำแสง (Optical Communication) อย่างเช่นอุปกรณ์แยกแสงไฟเบอร์ออปติก (PLC Splitter/Optical coupler) และอื่น ๆ ในกลุ่มวัสดุใหม่ (New Material)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้นำคณะกรรมการบริหาร (ทีมประเทศไทย) พบหารือกับผู้แทนระดับสูงเมืองฉงจั่ว ได้รับทราบข้อมูลว่า เมืองฉงจั่วกำลังผลักดันกับ จ.กาวบั่ง เร่งรัดกระบวนการภายในของประเทศเวียดนามในการยกระดับ “ด่านต่าลุง” (Tà Lùng Border Gate) ซึ่งปัจจุบัน มีสถานะเป็น “ด่านสากลทวิภาคี” ให้เป็น “ด่านสากลระหว่างประเทศ” เทียบเท่ากับด่านสุยโข่ว (Shuikou Border Gate/水口口岸) ในเมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วงโดยเร็ว (ด่านสุยโข่ว รวมถึงช่องทางขนส่งสินค้าสะพาน 2 ได้ผ่านการตรวจรับจากส่วนกลางตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

กว่างซีมีความมุ่งมั่นในการผลักดันการค้าและการไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศ สะท้อนได้จากการที่กว่างซีกับเวียดนามได้ทยอยเปิดด่านใหม่และยกสถานะของด่านท้องถิ่นหลายแห่งขึ้นเป็นด่านสากลอย่างต่อเนื่อง บีไอซี เห็นว่า การส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดและรอบด้านระหว่างจีน (กว่างซี) กับเวียดนาม จะนำมาซึ่งโอกาสด้านการส่งเสริม ‘ขั้วแห่งการเติบโต’ (Growth pole) ทางเศรษฐกิจ การค้า การขนส่งโลจิสติกส์ และการลงทุนในอนุภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีน (ผ่านกว่างซี) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ โดย บีไอซี สัญญาว่าจะติดตามพัฒนาการความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และนำมารายงานให้กับผู้ประกอบการไทยทราบอย่างต่อเนื่อง



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 25, 26 และ 27 กุมภาพันธ์ 2568

เว็บไซต์ https://tv.cctv.cn (央视网) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ www.chongzuo.gov.cn (崇左市人民政府) วันที่ 31 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn (广西商务厅) วันที่ 25 มิถุนายน 2567
ภาพประกอบ www.ddgx.cn

ด่านต้งจงด่านซั่วหลง

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน