ส่องแผนปี 2568 กว่างซีเตรียมเสริมแกร่ง “คมนาคม” เชื่อมอาเซียน เชื่อมโลก
13 Mar 2025
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมคมนาคมขนส่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เปิดเผยว่า ปี 2568 เขตฯ กว่างซีจ้วงจะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทุกมิติ เพื่อสร้างช่องทางการเชื่อมต่อกับทั่วโลก และขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงบูรณาการในภูมิภาค
ในการประชุมการทำงานด้านคมนาคมขนส่ง เขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 กรมคมนาคมขนส่ง เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ทบทวนผลการดำเนินงานในปี 2567 ระบุว่า
- อภิมหาโปรเจกต์ “คลองขนส่งผิงลู่” มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 47,000 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 64.4 ของประมาณการเงินลงทุนรวม
- รถไฟความเร็วสูงเชื่อมครบทั้ง 14 เมือง มีระยะทางรวม 2,405 กิโลเมตร (มากกว่า 1/3 ของรางรถไฟทั้งหมดในกว่างซีที่มีเกือบ 6,000 กิโลเมตร) ระยะทางยาวเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศจีน และยังมีอีกหลายโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้
- ทางหลวงพิเศษ (Expressway) ก่อสร้างไป 17 โครงการ ทางพิเศษที่เปิดใหม่ราว 993 กิโลเมตร ทำให้กว่างซีมีทางพิเศษรวมระยะทาง 10,060 กิโลเมตร และยังมีอีกหลายโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้
- ทางหลวงชนบท (Rural roads) ตัดใหม่ 4,761 กิโลเมตร ทำให้กว่างซีมีทางหลวงชนบทรวม 1.57 แสนกิโลเมตร
- ปริมาณขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ข้ามแดน 48.876 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 127 เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)
- การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” มีขบวนรถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งให้บริการรวม 10,018 เที่ยวขบวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (YoY) โครงข่ายการให้บริการเชื่อม 157 สถานีใน 73 เมืองของ 18 มณฑลทั่วประเทศจีน มีการขนส่งสินค้ามากถึง 1,163 ประเภท
- ปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ 9.015 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 (YoY) เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในบรรดาท่าเรือทะเลของจีน โดยท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการขยายตัวด้วยตัวเลขสองหลักเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน
- ปริมาณขนถ่ายสินค้าผ่านประตูเรือสัญจรฉางโจว เมืองอู๋โจว (ขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ) 224 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 (YoY) ซึ่งเป็นปริมาณสินค้าผ่านประตูเรือบนแม่น้ำธรรมชาติสูงสุดในจีน (ประตูเรือสัญจรซานเสีย แม่น้ำแยงซีเกียง มีปริมาณขนถ่ายสินค้าผ่านประตูเรือ 154 ล้านตัน)
- เส้นทางเดินเรือทางทะเลของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีทั้งหมด 80 เส้นทาง (ในประเทศ 31 เส้นทาง และต่างประเทศ 49 เส้นทาง รวมถึงท่าเรือชินโจว – ท่าเรือแหลมฉบัง)
- เส้นทางเดินเรือทางแม่น้ำมีทั้งหมด 15 เส้นทาง (ในประเทศ 10 เส้นทาง และต่างประเทศ 5 เส้นทาง รวมถึงท่าเทียบเรือชื่อสุ่ย เมืองอู๋โจว – ท่าเรือกรุงเทพ)

สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2568 กรมคมนาคมขนส่ง เขตฯ กว่างซีจ้วง จะเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างด้านการคมนาคมขนส่งในกว่างซีที่สำคัญ อาทิ
- โครงการก่อสร้างเพื่อสนับสนุนการเป็น “ศูนย์กลาง” โลจิสติกส์ของเมืองไป่เซ่อ อาทิ เส้นทางรถไฟเชื่อมเมืองไป่เซ่อ-หวงถ่ง (เมืองอันซุ่น มณฑลกุ้ยโจว) ซึ่งสามารถเชื่อมกับเส้นทางนครฉงชิ่ง-นครเฉิงตู / เส้นทางรถไฟเชื่อมเมืองระดับอำเภอจิ้งซี(เมืองไป่เซ่อ)-เมืองเหวินซาน(เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงและแม้วเหวินซาน มณฑลยูนนาน) / ศูนย์ชลประทานไป่เซ่อและการขยายร่องน้ำเดินเรือ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระบบงานขนส่งทางแม่น้ำในกว่างซี และช่วยสร้างทางออกสู่ทะเลให้แก่สินค้าจากมณฑลยูนนาน
- ระบบงานขนส่งทางน้ำ อาทิ คลองขนส่งผิงลู่ คาดว่า ปี 2568 จะใช้เงินลงทุนราว 17,000 ล้านหยวน ในการพัฒนาระบบงานขนส่งทางน้ำเพื่อเชื่อมคลองขนส่งผิงลู่ / การก่อสร้างเขตปฏิบัติการท่าเทียบเรือเมืองฝางเฉิงก่างและร่องน้ำเดินเรือ / การพัฒนาร่องน้ำเดินเรือให้สามารถรองรับเรือขนาด 3,000 ตันในแม่น้ำซีเจียงระหว่างนครหนานหนิง – เมืองกุ้ยก่าง
- ระบบงานขนส่งทางราง อาทิ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายจากตัวเมืองฉงจั่ว-เมืองชายแดนผิงเสียง (ตรงข้าม จ. ลางเซิน ประเทศเวียดนาม) คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 / การผลักดันงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่เชื่อมนครหนานหนิง-เมืองเซินเจิ้น ช่วงเส้นทางในกว่างซี (เมืองยวี่หลิน – เมืองระดับอำเภอเฉินซี เมืองอู๋โจว) / การขยายเส้นทางและเพิ่มเที่ยวให้บริการรถไฟลำเลียงสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ให้ได้ 11,000 เที่ยวขบวน / การผลักดันการพัฒนาท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง (งานขนส่งสินค้าทางรถไฟนครหนานหนิง-กรุงฮานอย เวียดนาม)
- การผลักดันการทำงานร่วมกับฝั่งเวียดนาม อาทิ การวางแผนและจัดทำเส้นทางรถไฟรางมาตรฐานฝั่งเวียดนาม (เส้นทาง จ.ลางเซิน – กรุงฮานอย และเส้นทางเมืองม่องก๋าย – ฮาลอง – ไฮฟอง) / การก่อสร้างทางหลวงพิเศษทางตอนเหนือของเวียดนาม (ติดกว่างซี) เส้นทาง ต. จ่าลิงห์ (Tra Linh) จ. กาวบั่ง – ต. ด่งดัง (Dong Dang) จ.ลางเซิน และทางหลวงพิเศษจาก อ. เชลัง (Chi Lang) ไปถึง ด่านหูหงิ (Huu Nghi)
- อื่น ๆ อาทิ การผลักดันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเพื่อเชื่อมด่านสากล (แบบทวิภาคี) อย่างด่านต้งจง (Dongzhong/峒中) ของเมืองฝางเฉิงก่าง ด่านผิงเมิ่ง (Pingmeng/平孟) ของเมืองไป่เซ่อ และด่านซั่วหลง (Shuolong/硕龙) ของเมืองฉงจั่ว / การพัฒนาให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงเป็นศูนย์กลางการบินสู่อาเซียนและศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ
บีไอซี เห็นว่า การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกว่างซี(จีน)กับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย ด้วยข้อได้เปรียบในทำเลที่ตั้งและความสะดวกครบครันของโครงข่ายคมนาคมขนส่ง จะช่วยให้กว่างซีเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยสามารถ “เชื่อมต่อ” เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจของจีนตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำการค้ากับประเทศจีน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนตอนกลางและภาคตะวันตก หรือกระจายสินค้าไทยต่อไปยังเอเชียกลาง และยุโรปได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民网-广西频道) วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ www.bbwgw.com (北部湾港集团) วันที่ 06 มกราคม 2568