ผ่าเกม National Logistics Hub ของจีน รื้อผังและเพิ่มรายชื่อใหม่ รวมถึง “เมืองอู๋โจว” ของกว่างซี
18 Feb 2025
ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ตลาดผู้บริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่เป็น “เค้กก้อนใหญ่” ที่ธุรกิจต่างชาติจับจ้องตาเป็นมันในส่วนของภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อคำนึงถึงต้นทุนด้านเวลา ผลิตภาพ และประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายสินค้า ธุรกิจต่างชาติขนาดกลางและขนาดใหญ่บางส่วนที่มีเงินทุนได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานในจีน เพื่อผลิตสินค้าขายให้ผู้บริโภคชาวจีนแทนการผลิตภายในประเทศเพื่อส่งออกไปจีน ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) อีกบางส่วนเลือกที่จะคงฐานการผลิตในประเทศและส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องอาศัยการบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพเป็น ‘ฟันเฟือง’ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ
เมื่อไม่นานมานี้ (5 ก.พ. 68) คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หรือ National Development and Reform Commission- NDRC (国家发改委) ได้ประกาศ “แผนการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติ” (国家物流枢纽布局优化调整方案) โดยได้ดำเนินการปรับปรุงบทบาท/รูปแบบของศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติ (National Logistics Hub) ที่มีอยู่เดิมบางแห่งให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และได้เพิ่มรายชื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติแห่งใหม่ จำนวน 26 แห่ง ทำให้ประเทศจีนมีศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติรวม 229 แห่งใน 152 เมืองทั่วประเทศจีน (บางเมืองมีการให้บริการในหลายด้าน)
การปรับปรุงแผนผังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติของคณะกรรมการ NDRC ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการพัฒนาที่สมดุลของโครงข่ายศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ปรับปรุงระบบการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์สมัยใหม่ ตลอดจนการเชื่อม “ข้อต่อ” สำคัญด้านโลจิสติกส์ในทุกมิติ ทั้งถนน รถไฟ ท่าอากาศยาน ท่าเรือแม่น้ำ และท่าเรือทะเล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและคุณภาพการให้บริการด้านโลจิสติกส์ในองค์รวม รวมทั้งเป็นการสนับสนุนและสร้างหลักประกันในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ พบว่า บัญชีรายชื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติที่เพิ่มใหม่ 26 แห่ง ได้ปรากฏชื่อของ “เมืองอู๋โจว” (Wuzhou City/梧州市) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงรวมอยู่ด้วย

รู้จัก “เมืองอู๋โจว” —- หัวเมืองทางภาคตะวันออกของเขตฯ กว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของประเทศจีน ติดกับมณฑลกวางตุ้ง เป็นต้นกำเนิดของตระกูลภาษาจีนกวางตุ้งได้รับการขนานนามเป็น “เมืองหลวงแห่งอัญมณีเทียมของจีนและของโลก” (กำลังผลิตราวร้อยละ 70 ของโลก) และเป็นหนึ่งใน “เมืองท่าแม่น้ำ” ที่สำคัญในจีนตอนใต้

เมืองอู๋โจวมีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ในฐานะ “ประตูสู่ตะวันออก” ของเขตฯ กว่างซีจ้วงใครว่าอู๋โจวเป็น land lock อันที่จริงแล้ว… เมืองอู๋โจวมีแม่น้ำซีเจียง (Xi River/西江) ไหลพาดผ่าน ซึ่งสามารถใช้ลำเลียงสินค้าไปยังปากแม่น้ำที่มณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เป็นที่ตั้งของท่าเรือแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกว่างซี —— “ท่าเรือแม่น้ำอู๋โจว” (ด่านสากล)
ปัจจุบัน “การขนส่งทางแม่น้ำ” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของภาคธุรกิจในพื้นที่จีนตอนใน ท่าเรือแม่น้ำอู๋โจว ประกอบด้วยท่าเทียบเรือขนาด 10 ล้านตัน จำนวน 3 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือหลี่เจียจวง (李家庄码头) ท่าเทียบเรือจื่อจินชุน (紫金村码头) และเขตปฏิบัติการท่าเรือชื่อสุ่ย (赤水港作业区)
“เขตปฏิบัติการท่าเรือชื่อสุ่ย” ตั้งอยู่ในอำเภอเถิง (Teng County/藤县) ของเมืองอู๋โจว เป็น “ด่านประเภท 1” หรือด่านที่สามารถทำการค้าต่างประเทศได้ของประเทศจีน และเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวบนลำน้ำซีเจียงที่มีระบบงานขนส่งแบบครบวงจรทั้งทางแม่น้ำ ทางถนน ทางรถไฟ (เส้นทางรถไฟลำเลียงสินค้าเข้าไปถึงในท่าเรือชื่อสุ่ย) และทางอากาศ (ใกล้สนามบินซีเจียงของเมืองอู๋โจว)
เมื่อเดือนตุลาคม 2567 บีไอซี ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการเปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือ “ท่าเทียบเรือชื่อสุ่ย เมืองอู๋โจว – ท่าเรือกรุงเทพ” แบบเที่ยวประจำ โดยมีบริษัท Guangxi XijiangChishui Port Co.,Ltd. (广西西江临港赤水港务有限公司) ให้บริการร่วมกับบริษัท HongkongKonfill Shipping Co.,Ltd. (香港广锋船务有限公司)
การเพิ่มชื่อของ “เมืองอู๋โจว” ในบัญชีรายชื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติ (National Logistics Hub) ทำให้ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติตามรูปแบบการให้บริการรวม 10 แห่ง ได้แก่

คณะกรรมการ NDRC ได้ให้โจทย์ในการส่งเสริมการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติให้มีคุณภาพสูง 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับรูปแบบการให้บริการของศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการก่อสร้างและการปรับปรุงการทำงานของศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ของศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติ การพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติให้มีความสมบูรณ์ และการแสวงหารูปแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่าง “คลัสเตอร์อุตสาหกรรม + ศูนย์กลางโลจิสติกส์”
ระยะต่อไป คณะกรรมการ NDRC จะให้แนวทางกับเมืองต่าง ๆ ในการส่งเสริมการสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติที่มีคุณภาพสูง และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ (อาทิ เงินทุน ที่ดิน แรงงาน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก) การยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการที่ครอบคลุมและประสิทธิภาพการดำเนินงานของศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่เรียกว่า “วงจรคู่ขนาน” (Dual Circulation) ที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนภายในประเทศ (Internal Circulation) เป็นแกนหลักและการหมุนเวียนภายนอกประเทศ (External Circulation) เป็นแกนเสริมที่ทำงานควบคู่กันไป เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ และลดความเสี่ยงจากการต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตและอุปสงค์จากต่างประเทศ
ตลอด 20 กว่าปีของการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก (Great West Development) ได้ช่วยให้พื้นที่ภาคตะวันตกของจีนกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเน้นการส่งออก (Export-oriented Economy) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นฐานอุตสาหกรรมเกิดใหม่จากการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกของประเทศจีน ข้อสังเกตุพบว่า ในบัญชีรายชื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติที่เพิ่มใหม่เกือบร้อยละ 60 ตั้งอยู่ในภาคตอนกลางและตะวันตกของประเทศ และมากกว่าร้อยละ 40 เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่มีบทบาท/รูปแบบด้านการบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (Manufacturing-Related Services หรือ MRS) และด้านการบริการด้านการค้า (Commercial Services) สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของส่วนกลางที่หวังสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและสร้างสมดุลทางธุรกิจในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก (ให้สมดุลกับภาคตะวันออก) รวมทั้งเป็นการยกระดับประสิทธิภาพ+ลดต้นทุนการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และคุณภาพการบริการโดยรวมของทั้งประเทศ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เขตฯกว่างซีจ้วงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความรวดเร็ว และลดต้นทุนของผู้ผลิตในการเคลื่อนย้ายสินค้า ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรม
การสนับสนุนจากส่วนกลางที่มีต่อเขตฯ กว่างซีจ้วงในครั้งนี้ กอปรกับความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้งและวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะใช้ประโยชน์จากความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งทางถนน รถไฟ เรือ และอากาศในการเป็นฐานผลิตและฐานการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นในจีน โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การเป็น Hub การขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคของกว่างซี (Hub จีนกับอาเซียน) กับประเทศไทย (Hub อาเซียน) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างสองฝ่ายให้ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นมากขึ้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์ Guangxi Daily (广西日报) วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2568
บัญชีวีแชททางการของ Guangxi Headline News (广西头条NEWS) วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ www.ndrc.gov.cn (国家发改委) วันที่05กุมภาพันธ์ 2568