ทุบสถิติใหม่ การขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” ที่กว่างซี ทะลุ 9 แสนตู้แล้ว

19 Dec 2024

การเดินเกมรุกของจีนในการสร้างความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนในกับอาเซียน โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นเขตการปกครองระดับมณฑลเพียงแห่งเดียวในภาคตะวันตกที่มีทางออกสู่ทะเล และเป็นผู้รับบท Gateway to ASEAN ของจีน จึงเป็น ‘ผู้เล่นตัวสำคัญ’ บนกระดานหมากรุกนี้

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้มุ่งพัฒนาให้ตนเองเป็น Hub เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในโมเดล “เรือ+ราง” โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เป็น ‘ข้อต่อ’ ของการขนส่งทางสองประเภทไว้ด้วยกัน

การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในโมเดล “เรือ+ราง” คืออะไร เป็นกิจกรรมด้านโลจิสติกส์แบบบูรณาการในการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์แบบไร้รอยต่อระหว่าง “ขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้า” กับ “เรือบรรทุกตู้สินค้า” ที่เกิดขึ้นภายในท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็น ‘ท่าเรือศูนย์กลาง’ ในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” การที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ในท่าเทียบเรือ ช่วยให้การลำเลียงสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างเรือกับรถไฟมีความสะดวกรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพสูง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… จุดแข็งของโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ดึงดูดให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็น ‘ท่าเรือดาวรุ่ง’ ของจีน

ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2567 การขนส่งตู้สินค้าโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงสร้างสถิติใหม่ ด้วยปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าสะสม 903,000 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นจำนวนที่มากกว่าปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าทั้งปี 2566 ที่ขนถ่ายได้ 861,000 TEUs

โดยเฉพาะนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 การนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านทางรถไฟในโมเดล “เรือ+ราง” มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การขนส่งตู้สินค้าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3,434 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.6 เมื่อเทียบกับช่วง 3 ไตรมาสก่อนหน้า (3 ไตรมาสแรก การขนส่งตู้สินค้าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,091 TEUs) นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคธุรกิจต้องการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบไว้ล่วงหน้าก่อนหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนมกราคม 2568

สินค้าที่นำเข้า-ส่งออกผ่านโมเดล “เรือ+ราง” ต้องใช้คำจำกัดความว่า “สากกะเบือ ยันเรือรบ” มีสินค้ามากกว่า 1,166 ประเภทที่ขนส่งด้วยโมเดลดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าอันตราย/วัตถุไวไฟ อาทิ แบตเตอรีลิเทียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และไฟแช็ค

เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” หน่วยงานการรถไฟได้ปรับปรุงพัฒนาขั้นตอน/กระบวนการขนถ่ายและการจัดสรรพื้นที่ลานสินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดเวลาในการขนถ่ายในแต่ละขบวนรถลงได้ร้อยละ 20 และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับ-ส่งในแต่ละวันของขบวนรถไฟขนส่งสินค้าที่สถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออก (Qinzhou Port East Station) จาก 12 เป็น 13 ขบวนต่อวัน

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนในการจัดสรรเวลาการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยให้สถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออกสามารถเดินรถไฟขนส่งสินค้าที่ได้สูงสุดวันละ 62 ขบวน อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของเส้นทางรถไฟดังกล่าวสูงถึง 111 เปอร์เซ็นต์ ช่วยยกระดับความคล่องตัวในการเข้า-ออกของขบวนรถไฟขนส่งสินค้ามากยิ่งขึ้น

ในรายงานการจัดอันดับ Top 100 ท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก ปี 2566 ของ American Journal of Transportation (AJOT) พบว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้อยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก และอยู่อันดับที่ 10 ของจีน มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 8.02 ล้าน TEUs ขยายตัวร้อยละ 14.25 เป็นตัวเลขการขยายตัวที่สูงกว่าท่าเรือ 9 อันดับแรกในจีนด้วย

ช่วง 10 เดือนแรก ปี 2567 ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีขยายตัวร้อยละ 14.0 (YoY) เป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดา 11 มณฑลที่มีท่าเรือทะเลของประเทศจีน

ปัจจุบัน  การขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” มีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงครอบคลุมไปยัง 156 สถานีใน 73 เมืองของ 18 มณฑลทั่วประเทศจีน โดยมี Hub สาคัญ คือ นครฉงชิ่ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ และเขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ และสามารถเชื่อมโยงโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ขณะที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีสามารถเชื่อมโยงครอบคลุมไปยัง 548 ท่าเรือใน 126 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก รวมถึงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า

ดังนั้น การขนส่งรูปแบบ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก(ไม่)ใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับจีน หรือต้องการใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งดังกล่าวเพื่อการขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 14, 15 ธันวาคม 2567
เว็บไซต์ https://xxgk.mot.gov.cn (中国交通运输部) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบท่าเรือชินโจวเรือ+ราง

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน