BIC Insight : เกาะติดความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมเวียดนาม เส้นที่ 2 พร้อมปูราง คาดใช้งานได้สิ้นปี 2567
23 Oct 2024
อัปเดตความคืบหน้าล่าสุดของโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไปประชิดชายแดนประเทศเวียดนาม เส้นที่ 2 ของประเทศจีน —- เส้นทาง “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว – เมืองระดับอำเภอผิงเสียง” ช่วงเส้นทางเมืองฉงจั่ว – เมืองระดับอำเภอผิงเสียง
ประเทศจีนกับเวียดนามมีเส้นแนวพรมแดนเป็นระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร โดยมี 2 มณฑลของจีน (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับมณฑลยูนนาน) ติดกับ 4 จังหวัดของเวียดนาม (จังหวัดกาวบั่ง จังหวัดลางเซิน จังหวัดกวางบิญ จังหวัดกว๋างนิญ และจังหวัดห่าซาง)
เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้รับการวางตัวจากรัฐบาลกลางให้เป็น Gateway to ASEAN เพื่อใช้กว่างซีเป็นสะพานผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนอย่างรอบด้าน เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ดังกล่าว รัฐบาลกว่างซีได้เร่งสร้าง“ความเชื่อมโยง” (Connectivity) ในหลากหลายมิติกับอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งกับชาติเพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนาม
หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในเขตฯ กว่างซีจ้วงไปยังเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอยู่ 2 เส้นทาง คือ
➣เส้นทางแรก “เมืองฝางเฉิงก่าง – เมืองระดับอำเภอตงซิง” ติดเมืองม่องก๋าย (Mong Cai) จังหวัดกว๋างนิญ (Quảng Ninh) ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2566
➣เส้นทางที่ 2 “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว – เมืองระดับอำเภอผิงเสียง” ติดจังหวัดลางเซิน (Lang Son) มีระยะทาง 201 กิโลเมตร รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงเส้นทางที่ 1 “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว” เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2565
- ช่วงเส้นทางที่ 2 “เมืองฉงจั่ว – เมืองระดับอำเภอผิงเสียง” อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

สำหรับช่วงเส้นทางที่ 2 “เมืองฉงจั่ว – เมืองระดับอำเภอผิงเสียง” ที่กว่างซีกำลังเร่งสร้างอย่างขะมักเขม้น ใช้คนงานก่อสร้างมากกว่า 1,600 คน ปัจจุบัน การก่อสร้างชั้นพื้นทาง (Sub grade) การขุดเจาะอุโมงค์ และการสร้างสะพานได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมสำหรับการปูรางรถไฟ การวางระบบไฟฟ้า ระบบเดินรถ และการทดสอบเดินรถ โดยคาดว่าทุกอย่างจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ (ปี 2567)
นับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศในช่วงเส้นทางที่ 2 “เมืองฉงจั่ว – เมืองระดับอำเภอผิงเสียง” เป็นภูเขาหินที่มีความลาดชัน ระยะทางเพียง 81.52 กิโลเมตร ต้องขุดเจาะอุโมงค์ 22 แห่ง คิดเป็นระยะทาง 26 กิโลเมตร ต้องสร้างสะพานมากถึง 55 แห่ง คิดเป็นระยะทางสะพาน 43.77 กิโลเมตร (เสาสะพานความสูง 64 เมตร) ต้องสร้างคานสะพานรูปกล่อง (Box Girder) มากถึง 1,254 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นมีความยาว 24 เมตร น้ำหนัก 570 ตัน และยังต้องสร้างค่อมกับเส้นทางรถไฟสายอื่นอีกด้วย
ตามรายงาน เส้นทางรถไฟความเร็วสูงประชิดชายแดนเวียดนาม ทั้ง 2 เส้นทางของเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ออกแบบก่อสร้างไว้เผื่อสำหรับการเชื่อมเส้นทางรถไฟกับประเทศเวียดนามในอนาคตไว้แล้ว นับเป็นกุศโลบายของรัฐบาลกว่างซี(จีน)ในการกรุยทางเพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งทางรางภายใต้โครงข่ายทางรถไฟสายทรานซ์-เอเชีย (Trans-Asia Railway Network) กับเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ในอนาคต
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน จีนกับเวียดนามมีบริการ “รถไฟธรรมดา” สำหรับการขนส่งสินค้าข้ามชาติอยู่แล้ว (ความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในเส้นทาง “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง – ด่านรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) – ด่านด่งดัง (จังหวัดลางเซิน เวียดนาม) – สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย” ใช้เวลาราว 16 ชั่วโมง
เส้นทางดังกล่าวมี “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) เป็นจุดรวมตู้สินค้าและกระจายสินค้าต่อไปยังเมืองอื่นทั่วประเทศไทย และสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟ China-Europe Express Railway ไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย

ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การผลักดันความร่วมมือด้านการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม ที่ดูจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ภายหลังการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงสองประเทศ โดยมีการหยิบยกประเด็นความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างกัน ทั้งการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโต เลิม ของประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2567 และการเดินทางเยือนกรุงฮานอยอย่างเป้นทางการของนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของประเทศจีน ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา สองฝ่ายได้มีการหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งระบบรางที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะโครงการพัฒนารางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรในเวียดนาม (จากจีน(กว่างซี) – สถานีด่งดัง เป็นรางผสม 1.435 เมตร / สถานีด่งดัง – สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เป็นราง 1 เมตร) ซึ่งจะช่วยให้ขนส่งสินค้าด้วยรถไฟระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนหัวรถจักร/ขบวนรถที่สถานีด่งดัง และการผลักดันโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางใหม่เชื่อมจีน(กว่างซี)-เวียดนาม โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมคณะทำงานร่วม (Joint Working Committee) ระหว่างรัฐบาลกว่างซีกับ 4 จังหวัดชายแดนเวียดนาม ได้แก่ จังหวัดฮาซาง (Hà Giang) จังหวัดกว๋างนิญ (Quảng Ninh) จังหวัดลางเซิน (Lạng Sơn) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bằng) สองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองระดับอำเภอตงซิงกับเมืองม่องก๋าย จังหวัดกว๋างนิญ
บีไอซี เห็นว่า การขนส่งและกระจายสินค้าผ่าน “ระบบราง” ในประเทศจีน เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในมิติของการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงในระบบการค้าระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ผู้ค้าเข้าถึงตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ
ปัจจุบัน หลายเมืองในจีนได้พัฒนารูปแบบการให้บริการของรถไฟความเร็วสูงเพื่อการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์แล้ว รวมถึงนครหนานหนิงที่ได้สร้าง “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” ในปี 2564 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วจีนในอนาคต
ในอนาคต หากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน(กว่างซี)-เวียดนามเกิดขึ้นเป็นจริง จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวในการขนส่งและกระจายสินค้าไทยไปทั่วประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民日报客户端广西频道) วันที่ 14 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 11, 12 ตุลาคม 2567