ถอดรหัส 5 ปี โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ที่กว่างซี แนะผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์

28 Aug 2024

การขนส่ง ‘เรือ+ราง’ เป็นโมเดลการขนส่งที่เรียกว่า ‘ฮ็อตสุด ๆ’ ในการทำการค้าต่างประเทศของมณฑลในจีนตะวันตก ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” หรือ NWLSC (New Western Land-Sea Corridor) เป็นโมเดลการขนส่งที่มีพัฒนาการใหม่ ๆ ให้เราได้เห็นอยู่ตลอดเวลา และเป็น ‘กุญแจ’ ดอกสำคัญที่ช่วย “ไขประตูการค้า” ให้สินค้าอาเซียน(ไทย)บุกตลาดจีน

กล่าวได้ว่า… เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นต้นแบบของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือ Multimodal transportation เชื่อม “เรือสินค้า” กับ “รถไฟขนส่งสินค้า” แบบไร้รอยต่อในบริเวณท่าเทียบเรือ (รถไฟวิ่งเข้าไปถึงในท่าเทียบเรือ) โดยมี “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซี” (คนไทยรู้จักชื่ออ่าวตังเกี๋ย) เป็น “ข้อต่อ” (connector) ที่ช่วยส่งเสริมและเชื่อมการค้าระหว่างจีน (ตะวันตก) กับต่างประเทศ (อาเซียน)

เพิ่งครบ 5 ปีไปหมาด ๆ นับจากการประกาศแผนแม่บท “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มาส่องดูพัฒนาการของการขนส่ง “เรือ+ราง” ในจีนตะวันตกผ่าน “ชุดตัวเลข” ดังต่อไปนี้

การขนส่ง “เรือ+ราง” มีเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าที่วิ่งให้บริการสะสมทะลุ 30,000 เที่ยวแล้ว โดยเที่ยวขบวนที่ 10,000 ใช้เวลา 1,461 วัน เที่ยวขบวนที่ 20,000 ใช้เวลา 487 วัน และเที่ยวขบวนที่ 30,000 ใช้เวลาเพียง 402 วัน

การขนถ่ายตู้สินค้าสะสม 3.1 ล้าน TEUs แล้ว (เพิ่มขึ้นจาก 94,000 TEUs ในปี 2562 เป็น 861,000 ในปี 2566 หรือกว่า 8.16 เท่า) โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ขบวนรถไฟขนส่ง “สตาร์ชจากมันสำปะหลัง” ของประเทศไทย ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออกของเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่มณฑลเสฉวน เป็นการลำเลียงตู้สินค้าทะลุ 50,000 TEUs ของปีนี้

สินค้าที่ขนส่งมีความหลากหลายถึง 1,154 ประเภท (เพิ่มขึ้นจาก 81 ประเภทในปี 2562) ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอะไหล่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร

การเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างจีนตะวันตก (กว่างซีเป็น Connector) กับต่างประเทศ (สิงคโปร์เป็น Hub) โดยในประเทศจีนเป็นกลไกความร่วมมือ 13 plus คือ 12 มณฑลภาคตะวันตก + มณฑลไห่หนาน + เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง + เมืองหวยฮว่า มณฑลหูหนาน สินค้าสามารถกระจายต่อไปยัง 153 สถานีของ 72 เมืองใน 18 มณฑลทั่วประเทศ และยังสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟยังสามารถเชื่อมกับ China-Europe Railway Express แบบไร้รอยต่อ

ขณะที่การเชื่อมโยงกับต่างประเทศจากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือเป๋ยไห่ และท่าเรือฝางเฉิงก่าง) เชื่อมกับท่าเรือหลักของโลก สามารถลำเลียงสินค้าสามารถเชื่อม 523 ท่าเรือใน 124 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก (เพิ่มขึ้นจาก 166 ท่าเรือใน 71 ประเทศ/ดินแดน) โดยเฉพาะท่าเรือฮ่องกง และท่าเรือสำคัญในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือแหลมฉบังของไทย ท่าเรือกวนตันของมาเลเซีย และท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม

หลายปีมานี้ การขนถ่ายตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีแนวโน้มการเติบโต ในรายงานการจัดอันดับท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 100 อันดับแรกของโลก ประจำปี 2566 ของ American Journal of Transportation (AJOT) พบว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ อันดับที่ 22 ของโลก และอยู่อันดับที่ 10 ของจีน มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 8.02 ล้าน TEUs ขยายตัว 14.25% (แนวโน้มขยายตัวแซงหน้าท่าเรือ 9 อันดับแรกในจีน)

บีไอซี เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน และรากฐานความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและระบบราง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

การเดินเกมรุกของจีนในการสร้างความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนในกับอาเซียน โดยกว่างซีเป็นมณฑลเดียวในภาคตะวันตกที่มีทางออกสู่ทะเล และเป็น Gateway to ASEAN จึงเป็น ‘ผู้เล่นตัวสำคัญ’ บนกระดานหมากรุกนี้ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้มุ่งพัฒนาให้มณฑลเป็น Hub เชื่อมโยงการขนส่งทางบก+เรือ โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เป็นตัวเชื่อมการขนส่งทางรถไฟ+เรือ

การขนส่งที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานด้านการรถไฟ ศุลกากร ท่าเรือ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการความร่วมมือในเชิงลึก มีการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานหน้างานทุกวัน ติดต่อประสานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้รับผิดชอบในห้องควบคุมท่าเรือ เขตปฏิบัติการท่าเรือ รวมถึงเจ้าของสินค้า พัฒนาระบบงานศุลกากรและการขนส่งโลจิสติกส์มีความรวดเร็วราบรื่น (การสำแดงพิธีการศุลกากร การตรวจปล่อย การเปลี่ยนตู้ และการขนส่ง) พัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยานพาหะที่ใช้ในการขนส่งสินค้าให้มีความรวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้กับการวางแผน การขนถ่าย และการเสริมโบกี้ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ และเร่งส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของพื้นที่เลียบเส้นทางขนส่งทั้งในด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างแรงสนับสนุนภายใต้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ ‘Dual Circulation’ (สร้างความสมดุลระหว่างตลาดในประเทศกับตลาดต่างประเทศ) ที่มุ่งเน้นการพัฒนายั่งยืน

‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี’ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ ‘ท่าเรือชินโจว’ ซึ่งมีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะท่าเทียบเรือที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ (Smart port) และการขนส่งโมเดล ‘เรือ+ราง’

ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า อีกทั้ง ท่าเรือแต่ละแห่งยังมีฟังก์ชันในการนำเข้าสินค้ากลุ่มพิเศษที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวเปลือก โดยผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาและใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีในการทำการค้ากับประเทศจีน (โดยเฉพาะจีนตะวันตก) ผ่านโมเดลการขนส่งโมเดล  ‘เรือ+ราง’



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 03, 06, 08 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 29, 30 กรกฎาคม 2567
เว็บไซต์ www.news.cn (新华网) วันที่ 06 สิงหาคม 2567

ภาพประกอบ เว็บไซต์ bbwport.com

โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง”

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน