ส่องความคืบหน้า “คลองขนส่งผิงลู่” —— อภิมหาโปรเจกต์ที่จะพลิกโฉมระบบงานขนส่งสินค้าในจีนตะวันตก

15 Aug 2024

เกือบ 2 ปีเต็มของการก่อสร้างโครงการที่ได้รับการขนานนามเป็น 1 ใน “อภิมหาโปรเจกต์แห่งศตวรรษ” ของประเทศจีน —— คลองขนส่งผิงลู่ หรือ Pinglu Canal (平陆运河) เป็นคลองขนส่งเพื่อการเดินเรือสายแรกที่ขุดขึ้นหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่เริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 ปัจจุบัน งานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?

ในแวดวงโลจิสติกส์ เมื่อกล่าวถึงคลองขนส่ง หลายท่านคงนึกถึง “คลองปานามา” อันที่จริง บทบาทของ “คลองขนส่งผิงลู่” มีลักษณะคล้ายคลึงกับคลองปานามา คลองขนส่งผิงลู่เป็นโครงการที่จีน(กว่างซี)ใช้กระตุ้นพลวัตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ตอนในด้วยการสร้าง “ทางเชื่อมทะเล” ระหว่างเมืองระดับอำเภอเหิงโจว (Hengzhou City/横州市) ของนครหนานหนิงกับท่าเรือชินโจวในอ่าวอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” มีระยะทางรวม 134.2 กิโลเมตร สามารถรองรับเรือขนาด 5,000 ตัน วางแผนใช้เงินลงทุนราว 72,700 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้าง 52 เดือน (4 ปี 4 เดือน) คาดว่าจะงานก่อสร้างส่วนหลักจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปีของ 2569

รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) และแผนแม่บทระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor หรือ NWLSC) ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2567 คลองขนส่งผิงลู่ใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 34,040 ล้านหยวน ขุดดินไปแล้วราว 206 ล้านลูกบาศก์เมตร

ต้องบอกว่า.. จริงๆ แล้ว การก่อสร้าง “คลองขนส่งผิงลู่” ไม่ใช่เพียงแค่การขุดทางน้ำ/ร่องน้ำเดินเรือ และการสร้างสะพานข้ามทางน้ำสำหรับการสัญจรของคนและรถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงสร้างวิศวกรรมหลักอย่าง “ประตูเรือสัญจร” (Navigation Lock) หรือที่เรียกว่า “ลิฟต์ยกเรือสินค้า” ที่จำเป็นต้องศึกษาและออกแบบงานก่อสร้างโดยคำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ระยะทาง 134.2 กิโลเมตรของคลองขนส่งผิงลู่มี “ประตูเรือสัญจร” จำนวน 3 แห่งได้แก่ ศูนย์หม่าต้าว (Madao Hub/马道枢纽) ศูนย์ฉี่สือ (Qishi Hub/企石枢纽) และศูนย์ชิงเหนียน (Qingnian Hub/青年枢纽) เพื่อใช้ปรับระดับน้ำบริเวณทางน้ำที่มีระดับต่างกันถึง 65 เมตร หรือเท่ากับตึก 22 ชั้น (ศูนย์หม่าต้าว ระดับน้ำเหนือเขื่อนกับท้ายเขื่อนต่างกัน 30 เมตร หรือเท่ากับตึกสูงเกือบ 10 ชั้น) เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญในการสัญจรทางน้ำในการยกหรือลดเรือสินค้าจากระดับน้ำที่แตกต่างกัน ช่วยให้เรือสินค้าสามารถเดินทางผ่านน้ำได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย เฉพาะในส่วนโครงสร้างหลักประตูเรือสัญจรใช้คอนกรีตไปแล้ว 9.33 แสนลูกบาศก์เมตร

ที่สำคัญ ประตูเรือสัญจร 3 แห่งนี้ เป็น “ประตูเรือสัญจรแบบประหยัดน้ำ” โดยมีการสร้างระบบทดน้ำ (คล้ายแก้มลิง) เพื่อใช้ในประตูเรือสัญจร ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้/ระบายน้ำในลำน้ำหลักและป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้าคลองลำน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง เพราะหากไม่มีระบบทดน้ำ เนื่องจากคลองผิงลู่ขุดแยกออกมาจากแม่น้ำซีเจียงที่ไหลออกไปปากแม่น้ำเพิร์ล หากไม่มีระบบประหยัดน้ำจะส่งผลกระทบให้พื้นที่ปลายน้ำของลำน้ำหลักมีปริมาณไม่เพียงพอ และน้ำทะเลทะลักเข้าพื้นที่ด้านใน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการใช้ชีวิตของผู้อาศัยบริเวณปลายน้ำ ช่วยประหยัดน้ำได้ปีละ 1,000 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณการใช้น้ำของครัวเรือนที่มีสมาชิก 3 คนได้ 8 ล้านครัวเรือนในหนึ่งปี

โดยประตูเรือสัญจรที่ศูนย์หม่าต้าว (Madao Hub) และศูนย์ฉี่สือ (Qishi Hub) เป็นประตูเรือสัญจร 3 ชั้นแบบประหยัดน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังก่อสร้างอยู่ สามารถประหยัดน้ำได้ราว 60% เมื่อเทียบกับประตูเรือสัญจรทั่วไป

ทีมนักวิศวกรรมร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเทคนิคการก่อสร้างใหม่ วัสดุใหม่ และโซลูชั่นใหม่มากกว่า 100 รายการ ไฮไลท์สำคัญ อาทิ

  • บริเวณพื้นที่ลาดชันสูงและชั้นดินอ่อน ใช้เสาเข็มป้องกันดินถล่ม (Anti-slide Pile) และสมอยึดเคเบิ้ลอัดแรง (Prestressed Anchor Cable) ที่มีความแข็งแรงสูงและทนทานต่อการกัดกร่อน และติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์อัจฉริยะแบบ Fiber Bragg Grating (FBG) เพื่อติดตามและตรวจวัดพฤติกรรมของมวลดินตลอด 24 ชั่วโมง
  • การใช้คอนกรีตผสมชนิดพิเศษที่มีความแข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อน ช่วยให้ประตูเรือสัญจรมีอายุใช้งานได้นานถึง 130 ปี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานจีนที่กำหนดไว้ที่ 100 ปี และสูงกว่าสะพานเชื่อมจูไห่-ฮ่องกง-มาเก๊าที่มีอายุการใช้งาน 120 ปี
  • บานประตูเรือสัญจรทำงานเปิด-ปิดเร็วที่สุดในโลก อย่างประตูเรือสัญจรที่ศูนย์หม่าต้าว (Madao Hub) และศูนย์ฉี่สือ (Qishi Hub) ใช้เวลาเปิด 1 นาที ใช้เวลาปิด 30 วินาทีเท่านั้น และเรือขนาด 5000 ตัน จำนวน 6 ลำ สามารถสัญจรผ่านประตูเรือสัญจร (ขึ้น-ลงเหนือเขื่อน ท้ายเขื่อน) ได้ภายใน 1 ชั่วโมง
  • บันไดปลาแบบผสมผสานระหว่างบันไดปลาแนวตั้ง (Vertical-slot Fish Ladder) กับบันไดปลาไหลที่บริเวณประตูเรือสัญจร ศูนย์ชิงเหนียน (Qingnian Hub) เพื่อการเดินทางอพยพของปลาเล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและระบบนิเวศทางน้ำ (บันไดเรือทั่วไป ปลาเล็กไม่สามารถว่ายขึ้นต้นน้ำได้)
  • การพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองเสมือนจริง (Digital Twin)แบบครบวงจรเป็นที่แรกในจีน เป็นการจำลองฉากทัศน์ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลข้อมูล (Data) ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างคลองขนส่งผิงลู่ให้ออกมาในรูปแบบเสมือน (Virtual) ทำให้เห็นกระบวนการทำงานและระบบต่าง ๆ ในโลกจริง (Physical World) ได้หลายมิติมากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีแบบจำลองเสมืองจริงนี้มีการประยุกช์ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building information modeling : BIM) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)

โครงสร้างหลักของคลองขนส่งผิงลู่จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2569 เมื่อเทียบกับเส้นทางการขนส่งสินค้าแบบเดิม (นครหนานหนิง – ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) การขนส่งสินค้าผ่านคลองขนส่งผิงลู่สามารถร่นระยะทางได้ 560 กิโลเมตร ช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนค่าขนส่ง (คาดว่าประหยัดได้ปีละ 5,200 ล้านหยวน) ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการขนส่งโดยรวมจะแตะ 95.5 ล้านตันในปี 2578 และทะลุ 120 ล้านตันในปี 2593

บทบาททางเศรษฐกิจของคลองขนส่งผิงลู่ไม่ได้จบที่ “คลองลัดออกสู่ทะเล” เท่านั้น  บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกว่างซียังวางแผนพัฒนา “แถบเศรษฐกิจคลองขนส่งผิงลู่” โดยส่งเสริมการพัฒนา “คลัสเตอร์อุตสาหกรรม” ในสาขาปิโตรเคมี การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ วัสดุโลหะชนิดใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่พื้นที่โดยรอบมีพื้นฐานความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ในส่วนของประเทศไทย บีไอซี เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างคลองขนส่งผิงลู่ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้หรือต่อยอดการพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ได้

การที่คลองขนส่งผิงลู่ได้วางตำแหน่ง (Positioning) ตนเองให้เป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่สะดวกที่สุดสำหรับการค้าจีน-อาเซียน การขนส่งสินค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึง “สินค้าไทย” เข้าไปถึงตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่จะทำได้อย่างสะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำ และเป็นโอกาสใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาลงทุนจัดตั้งธุรกิจในสาขาที่ตนเองมีความถนัด และสอดคล้องกับสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมของรัฐบาลกว่างซี



จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ http://paper.people.com.cn (人民日报) วันที่ 7 กรกฎาคม 2567
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (新华网) วันที่ 28 มิถุนายน 2567 และ วันที่ 7 เมษายน 2567
เว็บไซต์ www.mot.gov.cn (中国交通运输部) วันที่ 24 มิถุนายน 2567
เว็บไซต์ http://kjt.gxzf.gov.cn (广西科学技术厅) วันที่ 31 พฤษภาคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网) วันที่ 9 มีนาคม 2567
ภาพประกอบ http://hyj.gxzf.gov.cn และ http://sc.people.com.cn

คลองขนส่งผิงลู่

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน