ไฮสปีดเทรน “หนานหนิง-กว่างโจว” พร้อมใช้เต็มเส้นทางปลายปีม้าทอง
26 Feb 2014สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการกว่างซีวางเป้าหมายเปิดใช้ “เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนครหนานหนิง-นครกว่างโจว” เฉพาะช่วงเส้นทางในกว่างซีช่วงกลางเมษายนศกนี้
ขณะนี้ ชาวกว่างซีกำลังเฝ้าติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเปิดให้บริการ “เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนครหนานหนิง-นครกว่างโจว” หลังจากที่เมื่อปลายปีก่อน (ปี 56) กว่างซีทยอยเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหลายสาย
ในการประชุมการทำงานติดตามความคืบหน้าโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนครหนานหนิง-นครกว่างโจว ซึ่งจัดขึ้นในเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市) ของกว่างซี ได้ทราบว่า เส้นทางในช่วงเขตฯ กว่างซีจ้วง (นครหนานหนิง-เมืองอู๋โจว) จะเปิดให้บริการได้ภายในกลางเดือนเมษายน และจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ภายในสิ้นปีนี้ (ปี 57)
เส้นทางดังกล่าวเรียกสั้น ๆ ว่า รถไฟความเร็วสูง “สายหนาน-กว่าง” (Nan-Guang High Speed Rail, 南广铁路) เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พ.ย.51 และเริ่มวางรางเมื่อวันที่ 30 พ.ค.55 มีระยะทางยาว 577.1 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 349.8 กิโลเมตร และมณฑลกวางตุ้ง 227.3 กิโลเมตร
เส้นทางรถไฟข้ามมณฑลสายนี้มีมูลค่าเงินลงทุน 41,100 ล้านหยวน เป็นระบบรางคู่ วิ่งด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ถูกออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใช้สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สามารถเปิดให้บริการเที่ยวเดินทางไปกลับวันละ 22 เที่ยว แต่ละเที่ยวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 800 คน
เส้นทางนี้มีทั้งหมด 23 สถานี โดยเริ่มต้นที่สถานีนครหนานหนิงตะวันออก (ภาษาจีนเรียกว่า “หนานหนิงตงจ้าน”) ผ่านเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市) ก่อนเข้าสู่มณฑลกวางตุ้งที่เมืองอวิ๋นฝู (Yunfu City, 云浮市) เมืองจ้าวชิ่ง (Zhaoqin City, 肇庆市) เมืองฝอซาน (Foshan City, 佛山市)และสิ้นสุดที่สถานีกว่างโจวใต้ (ภาษาจีนเรียกว่า “กว่างโจวหนานจ้าน”)
ความคืบหน้าของช่วงเส้นทางในเขตฯ กว่างซีจ้วง ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองระบบ คาดว่าจะดำเนินการทดสอบเดินรถ การฝึกซ้อมและแผนรับมือกรณีฉุกเฉิน การประเมินความปลอดภัย และตรวจรับงานได้ภายในวันที่ 10 เมษายน 2557
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายหลังการเปิดให้บริการตลอดเส้นทางแล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างนครหนานหนิงกับนครกว่างโจวได้เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ช่วยร่นระยะเวลาจากเดิม 12-13 ชั่วโมง (ทางรถยนต์และรถไฟปกติ) เหลือเพียงแค่ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
ทั้งนี้ คาดหมายว่า การเปิดใช้เส้นทางดังกล่าวจะช่วยนำพาความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสู่กว่างซีได้ไม่น้อย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี 56 ธนาคารโลกได้นำเสนองานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายนี้ โดยประเมินว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแก่เมืองที่ผ่าน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9-15 และลดต้นทุนด้านเศรษฐกิจได้กว่า 5 หมื่นล้านหยวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ฝันที่เป็นจริง!! กว่างซีเปิดหน้าศักราช “ไฮสปีดเทรน” เที่ยวปฐมฤกษ์แล้ว (02 ม.ค. 2557)