ไฮสปีดเทรน “กุ้ยหยาง-หนานหนิง” ก่อสร้างยากที่สุดในโลก
28 Mar 2018เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนาน (นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง) เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการหลังเสร็จสิ้นการประมูลงานก่อสร้างช่วงระยะเส้นทางต่าง ๆ โดยผู้รับเหมาได้เข้าปรับพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยากในก่อสร้างมากที่สุดในโลกเส้นทางหนึ่ง และเป็นเส้นทางที่มีสัดส่วนของสะพานและอุโมงค์มากที่สุดในโลก (89% ของเส้นทาง) คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2565
รถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนานเริ่มต้นจากสถานีกุ้ยหยางเหนือ (Guiyang North Railway Station/贵阳北站)มุ่งลงทางทิศใต้ตรงเข้าสู่เขตฯ กว่างซีจ้วง และมาสิ้นสุดสถานีที่สถานีหนานหนิงตะวันออก(Nanning East Railway Station/南宁东站)
ทางรถไฟเส้นนี้มีความยาว 482 กิโลเมตร อยู่ในมณฑลกุ้ยโจว 199 กิโลเมตร และในเขตฯกว่างซีจ้วง 283 กิโลเมตร มีทั้งหมด 14 สถานี ถูกออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การลงทุนมีมูลค่ารวม 75,760 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้างนาน 6 ปี มีบริษัท China Railway (中国铁路总公司) รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวและรัฐบาลกว่างซีเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก
ความท้าทายของงานก่อสร้างอยู่ที่ “สภาพภูมิประเทศ” และ “โครงสร้างทางธรณีวิทยา” ที่มีความสลับซับซ้อน พื้นที่ภูเขาสูง (ผาตั้ง) ในมณฑลกุ้ยโจว และพื้นที่ภูเขา Karst (หินปูน โพรงถ้ำ) ของเขตฯกว่างซีจ้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นร่องเขาลึกที่ค่อนข้างอันตราย
ถึงแม้เส้นทางรถไฟที่มีความยาวเพียง 482 กิโลเมตร แต่ต้องสร้างสะพาน 188 แห่ง ความยาวสะพานรวม 178 กิโลเมตร และต้องเจาะอุโมงค์ 106 แห่ง ความยาวอุโมงค์รวม 252.048 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่เป็นสะพานกับอุโมงค์คิดเป็น 89% ของเส้นทางทั้งหมด นับเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก
ตามรายงาน รถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนานเป็นเส้นทางรถไฟล่าสุดที่ได้รับการกำหนดให้อยู่ใน “แผนงานโครงข่ายรถไฟระยะกลาง-ระยะยาว(ปี 2573)”และเป็นเส้นทางม้าเหล็กเชื่อมต่อมณฑลกุ้ยโจวกับเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีความสะดวกที่สุด
ปัจจุบัน การเดินทางระหว่างนครกุ้ยหยางกับนครหนานหนิงด้วย“รถไฟธรรมดา”ต้องใช้เวลานานถึง 13 ชั่วโมง 36 นาที ขณะที่รถไฟความเร็วสูง(อ้อม)ผ่านเมืองกุ้ยหลิน ใช้เวลาเร็วที่สุด 5 ชั่วโมง 13 นาที ในอนาคต เมื่อรถไฟความเร็วสูง "กุ้ยหนาน" เปิดให้บริการ ผู้โดยสารจะใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
เมื่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนานเปิดให้บริการในปี 2565 นครกุ้ยหยางจะกลายเป็น Hub รถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมกับ 5 เมืองเอกรอบข้างได้ (ไม่นับรวมเส้นทางกุ้ยหยาง-(ผ่านเมืองกุ้ยหลินของกว่างซี)-กว่างโจวที่เปิดให้บริการเมื่อ 26 ธันวาคม 2557) กล่าวคือ
- กุ้ยหยาง – ฉางซา (มณฑลหูหนาน) เปิดให้บริการเมื่อ 18 มิถุนายน 2558
- กุ้ยหยาง – คุนหมิง (มณฑลยูนนาน) เปิดให้บริการเมื่อ 28 ธันวาคม 2559
- กุ้ยหยาง – ฉงชิ่ง เปิดให้บริการเมื่อ 25 มกราคม 2561
- กุ้ยหยาง – เฉิงตู (มณฑลเสฉวน) คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในสิ้นปี 2562
- กุ้ยหยาง – หนานหนิง (เขตฯ กว่างซีจ้วง) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนานเป็นองค์ประกอบสำคัญของเส้นทางบกเหนือใต้(เส้นทางใหม่)ในกรอบยุทธศาสตร์ Belt and RoadInitiative (BRI)ที่จะเชื่อมเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กับเขตเศรษฐกิจกุ้ยโจวตอนกลางให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จยังสามารถเชื่อมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายอื่น (ที่กล่าวมาข้างต้น) กลายเป็นเส้นทางความเร็วสูงที่มีความสะดวกที่สุดของพื้นที่จีนตะวันตกในการออกสู่พื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของจีนรวมไปถึงประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่จีนตะวันตกแบบรอบด้าน
จัดทำโดย: นางสาวพรทิพย์ ปราบไกรสีห์ นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียงโดย: นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา: เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com(中国新闻网) วันที่ 16 มีนาคม 2561
หนังสือพิมพ์ Guiyang Evening (贵阳晚报) วันที่ 16 มีนาคม 2561