ไม่ได้โม้!! งานขนส่งผ่าน “แม่น้ำซีเจียง” เท่ารถไฟ 12 สาย

10 Jan 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ปี 2556 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านแม่น้ำซีเจียง (Xi River, 西江黄金水道) ในกว่างซีทะลุร้อยล้านตันเป็นครั้งแรก อยู่ที่ 107 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 12 จากการเปิดเผยของสำนักงานกลุ่มผู้นำก่อสร้างเส้นทางน้ำสายทองคำแม่น้ำซีเจียงเขตฯ กว่างซีจ้วง (Office of the Leading Group for Xi River Golden Waterway Construction of Guangxi, 广西西江黄金水道建设领导小组办公室)

แม่น้ำซีเจียง  (Xi River, 西江) ได้รับการขนานนามว่าเป็น เส้นทางน้ำสายทองคำ (Golden Waterway) เป็นแม่น้ำที่ใช้ในการขนส่งสายสำคัญอันดับ 2 ของประเทศ (รองจากแม่น้ำแยงซีเกียง) ไหลออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลที่มณฑลกวางตุ้ง จึงนับเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันตก

ในเขตฯ กว่างซีจ้วง แม่น้ำสายนี้ไหลพาดผ่าน 7 เมือง[*] โดยมีท่าเรือหลักในกว่างซีตั้งอยู่ใน 3 หัวเมือง ได้แก่ นครหนานหนิงสู่เมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市)

ไฮไลท์ 4 ประการเกี่ยวกับงานขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำซีเจียง มีดังนี้

หนึ่ง โครงการปรับปรุงและขยายศักยภาพเส้นทางเดินเรือระดับ 2 ช่วงระหว่างนครหนานหนิงถึงเมืองกุ้ยก่าง ทำให้เรือขนาด 2,000 ตันสามารถสัญจรได้ตลอดเส้นทางระหว่างนครหนานหนิงกับนครกว่างโจว (แม้จะเป็นในฤดูน้ำแห้งก็ตาม)

โครงการดังกล่าวช่วยให้เส้นทางเดินเรือระดับ 2 ในแม่น้ำซีเจียงของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 280 กิโลเมตรเป็น 553 กิโลเมตร และช่วยเพิ่มศักยภาพงานขนส่งสำหรับเรือที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น (จากเรือขนาด 1,000 ตัน เป็นเรือขนาด 2,000 ตัน)

นายเฉิน หง (Chen Hong, 陈红) หัวหน้าฝ่ายงานก่อสร้างโครงการปรับปรุงและขยายศักยภาพเส้นทางเดินเรือระดับ 2 จากนครหนานหนิงถึงเมืองกุ้ยก่าง ให้ข้อมูลว่า แม่น้ำซีเจียงจะมีศักยภาพรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าปีละกว่า 120 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว หรือเทียบเท่ากับปริมาณขนส่งทางรถไฟจำนวน 12 สาย

จากการคาดการณ์ การยกระดับเส้นทางเดินเรือเป็นระดับ 2 จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งจากนครหนานหนิงถึงเมืองกุ้ยก่างได้ปีละ 45 ล้านหยวน และจากเมืองกุ้ยก่างต่อไปยังเมืองอู๋โจวได้ประมาณปีละ 130 ล้านหยวน

นายเหยียน สือ ควาน (Yan Shi Kuan, 颜石宽) หัวหน้าฝ่ายบริหารงานท่าเรือและเส้นทางเดินเรือนครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่า การขนส่งทางน้ำของนครหนานหนิงโดยใช้เรือขนาด 1,000 ตัน แทบ ผลตอบแทนต้องเรียกว่า เท่าทุน หรือได้กำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากใช้เรือขนาด 2,000 ตันในการขนส่งถึงนครกว่างโจว ปริมาณขนส่งของเรือ 1 ลำเท่ากับปริมาณขนส่งของรถไฟ 1 ขบวน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่อตันก็ลดลงจาก 100 กว่าหยวนเหลือเพียง 50 หยวน หรือถูกลงมากกว่า 2 ใน 3 ของค่าขนส่งทางรถยนต์

สอง โครงการสำคัญอื่น ๆ ในระบบเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำซีเจียงเริ่มทยอยแล้วเสร็จ อาทิ

– เมืองอู๋โจว : โครงการก่อสร้างประตูเรือสัญจร (ลิฟต์เรือ) เส้นทางหมายเลข 3 และ 4 (สามารถรองรับเรือขนาด 3,000 ตัน) เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพการจรจรทางเรือติดขัด เนื่องจากมีเรือจอดรอใช้บริการจำนวนมาก

– เมืองไป่เซ่อ และเมืองฉงจั่ว : โครงการปรับปรุงและขยายศักยภาพเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำสาขาของระบบแม่น้ำซีเจียง เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำสำหรับเรือขนาด 1,000 ตัน ได้แก่ เส้นทางน้ำในแม่น้ำจั่วเจียง (Zuo River, 左江) ของเมืองฉงจั่ว และเส้นทางน้ำในแม่น้ำโย่วเจียง (You Jiang, 右江) ของเมืองไป่เซ่อ

สาม เมืองต่าง ๆ กำลังเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแม่น้ำและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานบริเวณท่าเรือ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในพื้นที่

สี่ การผลักดันการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำเพิร์ล-แม่น้ำซีเจียง เพื่อยกระดับความสำคัญของแผนงานสู่ ยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยเมืองต่าง ๆ กำลังเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและนิคมโลจิสติกส์เลียบฝั่งแม่น้ำ

ยกตัวอย่างเช่น เขตทดลองความร่วมมือพิเศษกวางตุ้ง-กว่างซี (Guangdong and Guangxi Special Cooperation Experimental Zones, 粤桂特别合作试验区) ของเมืองอู๋โจว กำลังเดินหน้าประชาสัมพันธ์การลงทุน ปัจจุบัน มีวิสาหกิจรายใหญ่เข้าจัดตั้งกิจการแล้วกว่า 30 ราย

ตามรายงาน ปี 2555 ท่าเรือแม่น้ำของเมืองอู๋โจวเป็นท่าเรือแม่น้ำที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดของกว่างซี

จากข้อมูล ท่าเรือฯ มีปริมาณขนถ่ายสินค้าคิดเป็นน้ำหนักสะสม 30.15 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของปริมาณการขนส่งทางแม่น้ำของทั้งมณฑล และปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เกือบ 4 แสน TEUs ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทางแม่น้ำของทั้งมณฑล

ทั้งนี้ เมืองอู๋โจวได้วางตำแหน่งท่าเรือแม่น้ำเป็นท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือสินค้าเทกอง ท่าเรือการผลิตเครื่องจักร และท่าเรือขนส่งวัสดุก่อสร้างและสินแร่ โดยมุ่งเป้าสู่การเป็นท่าเรือแม่น้ำชั้นนำที่มีความทันสมัยของจีน

 



คำอธิบายเพิ่มเติม

แม่น้ำซีเจียงไหลพาดผ่าน 7 เมืองในกว่างซี ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้งก่าง เมืองอู๋โจว เมืองไป่เซ่อ เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจว และเมืองฉงจั่ว รวมความยาวทั้งสิ้น 1,480 กิโลเมตร (เส้นทางน้ำสายหลักจากนครหนานหนิงถึงนครกว่างโจว มีความยาว 854 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 570 กิโลเมตร)

 



ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวข้ามข้อจำกัด กว่างซีพัฒนางานขนส่งผ่านแม่น้ำซีเจียงไม่หวั่นแม้ฤดูน้ำแห้ง (02 ม.ค. 2557)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน