ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 มณฑลหูหนานขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจีน-ลาวเพิ่มขึ้น 62.1%

12 Nov 2024

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มณฑลหูหนานมีการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจีน-ลาว เส้นทาง “เมืองหวยฮั่ว (หูหนาน)-คุนหมิง (ยูนนาน)-โม่ฮาน (ยูนนาน)-เวียงจันทน์ (ลาว)” เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 62.1

หลังจากรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เพียงหนึ่งเดือน มณฑลหูหนานก็ได้เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากท่าบกนานาชาติเมืองหวยฮั่วไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ขบวนปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 นอกจากนี้ หน่วยงานรถไฟของมณฑลหูหนานยังได้ร่วมกับสมาคมโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นของมณฑลหูหนานผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและเปิดช่องทางรองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างมณฑลหูหนานกับอาเซียน เช่น การนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากไทยและลาวโดยตรง ขณะเดียวกัน ก็สามารถส่งออกสินค้าเกษตรขึ้นชื่อของมณฑลหูหนานไปยังอาเซียนได้ด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2565 มณฑลหูหนานขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยรถไฟจีน-ลาวรวม 839 ขบวน ต่อมาในปี 2566 หน่วยงานรถไฟของมณฑลหูหนานได้ผลักดันการเปิดให้บริการแบบมีตารางกำหนดเวลาเดินทางที่แน่นอนทั้งขาไป (หูหนาน-เวียงจันทน์) และขากลับ (เวียงจันทน์-หูหนาน) ส่งผลให้ปริมาณการเดินรถเพิ่มขึ้นเป็น 1,889 ขบวน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 225.1 สูงติดอันดับต้น ๆ ของจีน โดยนับจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาเกือบสามปีมณฑลหูหนานได้เปิดให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจีน-ลาวรวมทั้งสิ้นมากกว่า 6,500 ขบวน

อนึ่ง ขณะนี้ มณฑลหูหนานอยู่ระหว่างการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ถนนและรถไฟ รวม 5 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางขนส่งทางอากาศที่เชื่อมโยงกับท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 3 แห่งของมณฑลหูหนาน ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวในนครฉางซา ท่าอากาศยานนานาชาติเหอฮัวในเมืองจางเจียเจี้ย และท่าอากาศยานนานาชาติเถาฮัวหยวนในเมืองฉางเต๋อ (2) เส้นทางขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ “ฉางซา-ยุโรป” (3) เส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำ จากท่าเรือเฉิงหลิงจีบนแม่น้ำแยงซีในเมืองเยว่หยาง ออกสู่ทะเล ไปยังฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และแอฟริกา (4) เส้นทางขนส่งสินค้าระบบ “ราง+ทะเล” ผ่านเมืองจูโจวไปยังมณฑลกวางตุ้งเพื่อเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางทะเล (5) เส้นทางขนส่งสินค้าจากเมืองหวยฮั่วไปยังอาเซียน ประกอบด้วย (5.1) การเชื่อมโยงกับ    ระเบียงการค้าระหว่างประเทศบก-ทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) ผ่านเขตฯ กว่างซี และ (5.2) รถไฟจีน-ลาวผ่านมณฑลยูนนาน

นอกจากนี้ มณฑลหูหนานยังได้มีการปรับปรุงเครือข่ายคมนาคม “เส้นทาง+ศูนย์การขนส่ง+การเชื่อมโยงเครือข่าย” ให้เป็นระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อให้มณฑลหูหนานเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญของจีนและช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1813138286219453419&wfr=spider&for=pc

kunming_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน