“เส้นทาง “Shanghai-Chongqing Direct Express” บรรทุกสินค้าทะลุ 1.39 ล้านตู้ TEU ในระยะเวลา 5 ปี
5 Sep 2024ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง ได้ดำเนินการขนส่งสินค้ากว่า 530 เที่ยว โดยเมื่อไม่นานมานี้ เรือบรรทุกสินค้าหมินเสียง (Minxiang) B521E ได้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 292 TEU (TEU: หน่วยนับตู้ คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ออกเดินทางจากท่าเรือกว่อหยวนในเขตใหม่เหลียงเจียง นครฉงชิ่ง มุ่งหน้าสู่นครเซี่ยงไฮ้ และนับตั้งแต่มีการทดลองใช้ “เส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง (Shanghai – Chongqing Direct Express หรือ 沪渝直达快线)” เรือสินค้าลำดังกล่าวก็ได้มีบริการรับส่งระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่งมาแล้วถึง 74 ครั้ง
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ได้เปิดเส้นทางนำร่อง เส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง เป็นครั้งแรก โดยกรมศุลกากรท่าเรือนครฉงชิ่ง (Chongqing Port Customs) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากรนครฉงชิ่ง (Chongqing Customs) และกรมศุลกากรนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Customs) ได้ดำเนินการและสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมรูปแบบ “การยืนยันก่อนออกจากท่า (Departure Confirmation หรือ 离港确认)” โดยการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินงานของการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่าง “นครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง” จากเดิมที่ต้องรอแต่ละขั้นตอนให้เสร็จก่อนจึงจะดำเนินการขั้นต่อไปได้ เปลี่ยนเป็นการดำเนินการพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอการตรวจนับสินค้าและสามารถจองเรือเมื่อตู้คอนเทนเนอร์นำเข้ามาถึงท่าเรือขาเข้า จากนั้นผู้นำเข้าสามารถยื่นสำแดงและดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรได้ทันที และเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นผู้นำเข้าสามารถยืนยันข้อมูลโลจิสติกส์ภายในประเทศ และนำสินค้าขนส่งส่งไปยังท่าเรือปลายทางภายในประเทศในขั้นต่อไป
จากการปรับปรุงแผนการดังกล่าวช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการสินค้านำเข้าที่ท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้ลงถึง 48 ชั่วโมง และทำให้เวลาการเปลี่ยนเรือสำหรับสินค้าหนึ่งเที่ยวลดลงประมาณร้อยละ 70 และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เส้นทางด่วนนี้ได้กลายเป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำที่รวดเร็วซึ่งเชื่อมต่อระหว่าง “ท่าเรือนครฉงชิ่ง (Chongqing Port) – ท่าเรือไท่ชาง (Taicang Port) – ท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Port) (รวมถึงเขตท่าเรือไว่เกาเฉียว (Waigaoqiao Port) และเขตท่าเรือหยางซาน (Yangshan Port)
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง ได้มีการเดินเรือไปแล้วทั้งหมด 5,523 เที่ยว โดยบรรทุกสินค้านำเข้าและส่งออกจากนครฉงชิ่งไปนครเซียงไฮ้จำนวน 1.39 ล้านตู้ TEU (TEU: หน่วยนับตู้ คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ย 11 วัน และจากนครเซียงไฮ้ไปนครฉงชิ่ง ใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ย 15 วัน และถึงปลายทางเร็วขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบเดิมหลังจากการเปิดเส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง ทำให้ศักยภาพในการรวบรวมและบริการสินค้าของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมทั้งดึงดูดแหล่งสินค้าจากพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำแยงซีให้มารวมกันที่นครฉงชิ่งมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการขนส่งของแม่น้ำแยงซีอย่างต่อเนื่อง”
ในขณะเดียวกัน เขตเศรษฐกิจใหม่เหลียงเจียง นครฉงชิ่ง (Chongqing Liangjiang New Area หรือ 重庆两江新区) ยังได้ร่วมมือกับกรมศุลกากรนครฉงชิ่งและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงกับท่าเรือในมณฑลเสฉวน โดยมุ่งเน้นขยายเส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง ไปยังมณฑลเสฉวน ทำให้ระยะเวลาการถ่ายโอนระหว่างท่าเรือลดลงไปอีกประมาณ 2 วัน ซึ่งในปัจจุบัน เส้นทางมณฑลเสฉวน – นครฉงชิ่ง – นครเซี่ยงไฮ้ (川-渝-沪) ซึ่งได้เปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 สามารถใช้เวลาเพียง 12 วัน ในการเดินทางจากท่าเรือเมืองอี๋ปินไปยังท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้และส่งต่อไปยังยุโรปตะวันออก
ในขั้นต่อไป เขตเศรษฐกิจใหม่เหลียงเจียง นครฉงชิ่ง จะยังคงสนับสนุนการดำเนินงานของเส้นทางขนส่งทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง และปรับปรุงระบบการขนส่งหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งผลักดันการเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land and Sea Trade Corridor: ILSTC) รถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) (China Railway Express Trains (Chengdu & Chongqing) รถไฟเชื่อมโยงทางราง-ทางทะเล (เส้นทางนครฉงชิ่ง-กวางโจว) (Chongqing – Guangzhou rail-sea intermodal) เข้ากับเส้นทางแม่น้ำสายทองคำ (Golden Waterway) แม่น้ำแยงซี อีกทั้งยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนท่าเรือกั๋วยวนให้มีบทบาทเป็น “ทางสัญจรหลัก” “แพลตฟอร์มหลัก” และ “ศูนย์กลางหลัก” ในการพัฒนาช่องทางการขนส่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้นครฉงชิ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาภาคตะวันตกและศูนย์กลางการเปิดกว้างแบบครบวงจรในพื้นที่ตอนในของยุคใหม่
อย่างไรก็ดี เส้นทางขนส่งทางน้ำระหว่างนครเซี่ยงไฮ้และนครฉงชิ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดเวลาการขนส่งและเพิ่มศักยภาพการรวบรวมสินค้าจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในการศึกษาและนำแนวทางนี้มาใช้ในการพัฒนาการเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเปิดโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยในหลายด้าน อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งออก การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การขยายตลาดส่งออกสินค้าไทย และการลดความเสี่ยงทางการค้า โอกาสเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับจีน ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
ที่มาข้อมูล:
1. เว็บไซต์ cq.news (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567)
http://www.cq.news.cn/20240815/199198bfc524410b9e94aeb3d477d2f4/c.html