เศรษฐกิจจีนตะวันตกโต ดันปริมาณขนสินค้าผ่าน “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” หยุดไม่อยู่

25 Apr 2023

ต้องบอกว่า… หลายปีมานี้ กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” โชว์ฟอร์มร้อนแรงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวด้านการค้าประเทศของมณฑลตอนกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีน และสอดรับกับบทบาทการเป็น ‘ประตู’ ที่ใช้เปิดสู่ภายนอกของจีนตะวันตก และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จีนตะวันตกใช้ในการพัฒนาการค้าและโลจิสติกส์กับต่างประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ โฆษกประจำสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ได้แถลงข่าวสถานการณ์การค้าต่างประเทศของจีนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งสาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า การค้าต่างประเทศของมณฑลทางภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 1.84 ล้านล้านหยวน (สัดส่วนต่อมูลค่าทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 18.6%) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 126% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศร้อยละ 7.8 จุด และมีผลต่อการขยายตัวภาคการค้าต่างประเทศ (Contribution Rate) ทั้งจีน 45.8%

จบไตรมาสแรก ปี 2566 การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ยังคงรักษาระดับการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการขนถ่ายสินค้า คิดเป็นน้ำหนักรวม 68.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.5% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นการขนถ่ายตู้สินค้า รวม 1.612 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 14.7% (YoY) เที่ยวเรือสามารถขนส่งสินค้าเชื่อม 393 ท่าเรือใน 119 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก (เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2564 เพิ่มขึ้น 82 ท่าเรือใน 13 ประเทศ/ดินแดน)

ขณะที่ รถไฟขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ลำเลียงตู้สินค้ารวม 1.91 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 11.7% (YoY) ชนิดสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 640 กว่าชนิดในปี 2564 เป็น 940 กว่าชนิด ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าวิ่งเชื่อม 115 สถานี ใน 60 เมือง ใน 17 มณฑลทั่วประเทศจีน (เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2564 เพิ่มขึ้น 24 สถานี ใน 13 เมือง ใน 4 มณฑล) และนับตั้งแต่เปิดให้บริการมีขบวนรถไฟวิ่งให้บริการสะสมทะลุ 25,000 เที่ยวแล้ว

นอกจาก สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์แล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Goods) เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ได้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแร่โลหะ (ปริมาณนำเข้าสินแร่ทองแดงมาเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ติดต่อกัน 4 ปี / นำเข้าแร่สปอดูมีน (Spodumene) เป็นครั้งแรก) บอกไซด์ (Bauxite) น้ำมันดิบ และถ่านหิน

เพื่อพัฒนาให้กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถดึงดูดและรองรับการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลกว่างซีได้เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มความถี่ของเที่ยวขบวนรถไฟและเส้นทางเดินเรือเดิม รวมถึงบุกเบิกเส้นทางใหม่อย่างต่อเนื่อง

ตามรายงาน ปีนี้ รัฐบาลกว่างซียังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาก่อสร้างท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีโครงสร้างก่อสร้างเลียบชายฝั่งทะเล จำนวน 17 โครงการ ที่ได้รับการบรรจุเป็น Key projects ที่กว่างซีใช้ผลักดันระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) และการคลัสเตอร์ 3 เมืองชายทะเลของกว่างซี (เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ และเมืองฝางเฉิงก่าง) โดยเฉพาะการตรวจรับท่าเทียบเรือที่สร้างใหม่ และการติดตั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนถ่ายและยกตู้สินค้าในท่าเทียบเรือ ซึ่งครอบคลุมถึงท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (เฟสสอง) ในท่าเรือชินโจวด้วย ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานภายในท่าเทียบเรือให้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกขั้น

บีไอซี เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน และรากฐานความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและระบบราง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกผ่านการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับอาเซียน โดยมีเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น ‘ข้อต่อ’ ตัวสำคัญ จึงเป็น ‘โอกาส’ สำหรับผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีน(ตะวันตก)ผ่านโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ได้

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ www.jwview.com (中新经纬) วันที่ 13 มีนาคม 2566
เว็บไซต์www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 07 เมษายน 2566
ว็บไซต์ www.xinhuanet.cn (新华网) วันที่ 02 เมษายน 2566
หนังสือพิมพ์หนานหนิง เดลี่
(南宁日报) วันที่ 07 เมษายน 2566

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน