เมืองชินโจวรุกพัฒนาฟังก์ชั่นความร่วมมือทางทะเล เร่งเปิดเส้นทางเรือขนส่งกับอาเซียน
7 Jul 2014เว็บไซต์ข่าว CATTC : เมืองชินโจวของกว่างซีเร่งกระชับความร่วมมือด้านกิจการทางทะเลกับอาเซียน หวังชิงบัลลังก์เมืองท่าต้นทางบนเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
เมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) เป็นเมืองชายฝั่งทะเลน้ำลึกรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) มีความสำคัญในฐานะจุดเชื่อมโยง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Maritime Silk Road)
รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนเมืองแห่งนี้ด้านการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอก อาทิ นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย (China-Malaysia Qinzhou Industrial Park, 中马钦州产业园区) เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว (Qinzhou Bonded Port Area, 钦州保税港区) ด่านนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (Vehicle Import Ports, 整车进口口岸) เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port Economic and Technology Development Zone, 钦州港经济技术开发区) และนิคมนวัตกรรมเกษตรกรไต้หวันเมืองชินโจว (Qinzhou Taiwan Farmers Innovation Park, 钦州台湾农民创业园)
หนึ่ง การพัฒนาท่าเรือและเส้นทางเดินเรือทั้งในและต่างประเทศของเมืองชินโจว
เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว (Qinzhou Bonded Port Area, 钦州保税港区) มียอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสะสมนับตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้น 16,500 ล้านหยวน
ปัจจุบัน เขตท่าเรือฯ มีบริการเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศไปยังเมืองฮ่องกง เมืองเกาโสง (ไต้หวัน) สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ไฮฟอง(เวียดนาม) และเส้นทางขนส่งสู่ท่าเรือสำคัญในประเทศ อาทิ นครกว่างโจว(มณฑลกวางตุ้ง) เมืองเซี่ยเหมิน(มณฑลฝูเจี้ยน) เมืองหนิงโป(มณฑลเจ้อเจียง) เมืองเหลียนอวิ๋นก่าง(มณฑลเจียงซู) เมืองชิงต่าว(มณฑลซานตง) และเมืองต้าเหลียน(มณฑลเหลียวหนิง)
นายติง ฉี่ เหวิน (Ding Qi Wen, 丁起文) หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการลงทุนประจำคณะกรรมาธิการบริหารเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว (Administration Committee of Qinzhou Bonded Port Area, 广西钦州保税港区管理委员会投资促进处) ให้ข้อมูลว่า
“เมืองชินโจวกำลังผลักดันการเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศเส้นทางตรง (Direct Line) ในเส้นทางท่าเรือชินโจว(กว่างซี) – ไฮฟอง(เวียดนาม) – ท่าเรือแหลมฉบัง(ประเทศไทย) – ท่าเรือโฮจิมินห์(เวียดนาม) – ท่าเรือหยางผู่(มณฑลไห่หนาน) และกลับสู่ท่าเรือชินโจว”
ปีที่ผ่านา (ปี 56) เขตท่าเรือฯ มีการขนถ่ายสินค้ารวม 16.16 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 39.7 ในจำนวนนี้ เป็นตู้คอนเทนเนอร์ 6.013 แสน TEUs ขยายตัวร้อยละ 26.8 ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้
สอง บทบาทสำคัญของเมืองชินโจวกับเป้าหมาย “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Maritime Silk Road)
เมืองชินโจวมีฐานะความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวคือ เมืองชินโจวเป็นหนึ่งในท่าเรือต้นทางที่มีความสำคัญบนเส้นทางสายไหมทางทะเลสมัยโบราณ โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถาง (Tang Dynasy) และราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty) เมืองชินโจวถือเป็นเมืองท่าการค้ากับต่างประเทศที่มีความสำคัญและมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด
เมื่อปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ในยุคการสร้างประเทศ ดร.ซุน ยัด เซน ได้กำหนดให้ท่าเรือชินโจวเป็น “ท่าเรือสำคัญแห่งที่ 2 ทางตอนใต้ของประเทศ” มีความสำคัญในฐานะท่าเรือศูนย์กลางในภูมิภาค
“ปัจจุบัน เขตพื้นที่ปฏิบัติการ 12 แห่ง และท่าเทียบเรือ 121 แห่งในท่าเรือชินโจวได้รับการอนุมัติให้เปิดสู่ภายนอกทั้งหมด ขณะนี้ เมืองชินโจวกำลังเร่งพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเดินเรือให้ครอบคลุมเมืองท่า 47 แห่งในประเทศสมาชิกอาเซียน” นางเซียว อิง จื่อ (Xiao Ying Zi, 肖莺子) เลขาธิการพรรคฯ เมืองชินโจว ให้ข้อมูล
ในปลายปี 57 ท่าเรือชินโจวเล็งเปิดเส้นทางการเดินเรือสู่ท่าเรือสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน และเริ่มจัดตั้งศูนย์ข้อมูลโลจิสติกส์ท่าเรือจีน-อาเซียน (China-ASEAN Port Logistics Information Center, 中国—东盟港口物流信息中心) และจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นกำกับดูแลงานด้านการพัฒนาโครงข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองท่าของจีน-อาเซียน
เป้าหมายตามแผนงานพัฒนาท่าเรือฯ ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ท่าเรือชินโจวจะมีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ถึง 200 ล้านตัน (แบ่งเป็น ตู้คอนเทนเนอร์ 8 ล้าน TEUs) ปริมาณขนถ่ายสินค้า 150 ล้านตัน (แบ่งเป็น ตู้คอนเทนเนอร์ 5 ล้าน TEUs) และท่าเรือชินโจวจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศในภูมิภาคและเป็นท่าเรือหลักด้านการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในอ่าวเป่ยปู้
สาม ความเคลื่อนไหวของเมืองชินโจวกับเป้าหมาย “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Maritime Silk Road)
หัวใจสำคัญของการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลฯ คือ การพัฒนาความร่วมมือทางทะเล และการสร้างโครงข่ายความเชื่อมโยงทางทะเล
เมืองชินโจวได้เริ่มดำเนินการพัฒนาโครงข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองท่าของจีนกับอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ “กองทุนความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีน–อาเซียน” (China-ASEAN Maritime Cooperation Fund, 中国—东盟海上合作基金) ที่รัฐบาลจีนจัดตั้งขึ้ันเพื่อใช้สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านกิจการทางทะเลระหว่างจีนกับอาเซียน (มูลค่า 3,000 ล้านหยวน)
โครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกแบบรอบด้านกับชาติสมาชิกอาเซียนโดยเน้นผลักดันความร่วมมือด้านเส้นทางเดินเรือและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว วัฒนธรรม รวมถึงการศึกษาและฝึกอบรม
ท่าเรือเมืองชินโจวกำลังยื่นขอจัดตั้ง “เขตท่าเรือการค้าเสรีอ่าวเป่ยปู้” (Beibu Gulf Free Trade Port Area, 北部湾自由贸易港区) ซึ่งมีสาขานำร่อง 4 สาขา (คือ นวัตกรรมทางการเงิน ความร่วมด้านการค้าการลงทุน รูปแบบการควบคุมตรวจสอบ การบริหารจัดการ) เพื่อแสวงหารูปแบบการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน
สี่ เป้าหมายสำคัญของเมืองชินโจว
จุดเด่นทางภูมิศาสตร์ของเมืองชินโจวที่เปรียบเสมือน “ข้อต่อ” ระหว่างพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่างของประเทศจีนกับอาเซียน ทางการเมืองชินโจวตั้งเป้าหมายในอนาคต ดังนี้
1. ฐานการค้าและกระจายสินค้านำเข้าส่งออกกับอาเซียน เมืองชินโจวจะสร้างตลาดสินค้าเกษตรจีน-อาเซียน เมืองศูนย์กลางธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศจีน–อาเซียน และเมืองศูนย์กลางรถยนต์ระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้
2. ศูนย์กลางการบริการภาคการเงินระดับภูมิภาค ซึ่งเน้นธุรกิจการเงินระหว่างประเทศเป็นหลัก เช่น การพัฒนานวัตกรรมการเงินระหว่างประเทศ (Offshore Financial) การบริการทางการเงินพิเศษเฉพาะสาขา (การขนส่งทางทะเล การค้า และรถยนต์) การดึงดูดและจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะ (ธนาคารภายใต้ความร่วมมือระหว่างจีนกับมาเลเซีย บริษัทพันธบัตรจีน-มาเลเซีย บริษัทการเงินลิสซิ่ง)
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
– เมืองชินโจวของกว่างซีขานรับยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (11 มิ.ย. 2557)