เมืองชินโจวของกว่างซีขานรับยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21”

12 Jun 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : เมืองชินโจวกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือด้านกิจการทางทะเลกับชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนา เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Maritime Silk Road of the 21st Century)

เมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) เป็นหนึ่งในเมืองที่มีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งอยู่ในกลางเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี และมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ จากการเป็นส่วนหนึ่งของกรอบยุทธศาสตร์ เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าทางทะเลในสมัยโบราณกาล

นอกจากนี้ ชินโจวได้รับการจัดอันดับเป็น เมืองที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศจีนใน หนังสือปกฟ้าว่าด้วยเมืองที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศจีน (Blue Book of Chinese City Competitiveness, 中国城市综合竞争力蓝皮书) ซึ่งเป็นผลจากแรงสนับสนุนเชิงนโยบายจากส่วนกลางและท้องถิ่น

ยุทศาสตร์สำคัญของเมืองชินโจว มีอยู่ 3 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง ท่าเรือขนาดใหญ่ ช่องทางออกสู่ทะเลของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้

ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือน้ำลึกตามธรรมชาติที่หาได้ยาก ซึ่งสามารถสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกรองรับเรือขนาด 10,000-300,000 ตันได้จำนวน 200 กว่าท่า ซึ่งสามารถรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าได้มากกว่า 500 ล้านตันต่อปี



ในปีที่แล้ว (ปี 56) ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือชินโจวมีจำนวน 80 ล้านตัน  คาดหมายว่า ปีนี้ ปริมาณการขนถ่ายสินค้าจะทะลุ 100 ล้านตันภายหลังการก่อสร้างเส้นทางเดินเรือและท่าเทียบเรือขนาด 3 แสนตันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ

ปัจจุบัน เมืองชินโจวมีท่าเทียบเรือขนาดหมื่นตันขึ้นไป จำนวน 98 ท่า และท่าเทียบเรือขนาด 1 แสนตันขึ้นไป อีกกว่า 10 ท่า โดยเขตปฏิบัติการท่าเรือต้าหล่านผิง (Da Lan Ping Port Area, 大榄坪港区) ในท่าเรือชินโจว ถือเป็นท่าเทียบเรือที่มีความทันสมัยระดับสากล ปีที่ผ่านมา มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 6 แสน TEUs

ท่าเรือชินโจวให้บริการเส้นทางเดินเรือขนส่งภายในประเทศสู่ท่าเรือหลักๆ ทั่วประเทศจีน และเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศครอบคลุมเมืองฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศสมาชิกอาเซียน (ปัจจุบัน เปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือโดยตรงสู่สิงคโปร์และไทย)

เมืองชินโจวเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟ 8 สาย (ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สาย) และทางหลวงพิเศษ 5 สาย

ระบบการกระจายสินค้าของท่าเรือได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เมืองชินโจวกลายเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลเชื่อมสู่อาเซียนที่มีความสะดวกรวดเร็วที่สุดของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่าง

บทบาทการเป็น ชุมทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศระดับภูมิภาค และ ศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านทรัพยากร มีความชัดเจนมากขึ้นทุกขณะ

สอง นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พื้นที่ศูนย์รวมอุตสาหกรรม(เลียบชายฝั่งทะเล)

ช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลกลางได้ทยอยอนุมัติการจัดตั้งกลไกการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศกับอาเซียน

ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย (China-Malaysia Qinzhou Industrial Park, 中马钦州产业园区 เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว (Qinzhou Bonded Port Area, 钦州保税港区) ด่านนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (Vehicle Import Ports, 整车进口口岸) เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port Economic and Technology Development Zone, 钦州港经济技术开发区) และนิคมนวัตกรรมเกษตรกรไต้หวันเมืองชินโจว (Qinzhou Taiwan Farmers Innovation Park, 钦州台湾农民创业园)

บทบาทของท่าเรือชินโจวในการเป็นศูนย์รวมอุตสหากรรมเลียบชายฝั่งทะเลมีความชัดเจนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจวมีวิสาหกิจเข้ามาลงทุนแล้ว 132 ราย

ในนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย วิสาหกิจที่เข้ามาลงทุนกลุ่มแรกกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะทยอยเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีท่าเรือชินโจวเป็นฐานโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมขนาด 10 ล้านตันของ CNPC (China National Petroleum Corporation) และกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวข้อง

สาม โครงข่ายความร่วมมือ – ความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านอื่น ๆ ระหว่างกัน

การพัฒนาความร่วมมือด้านกิจการทางทะเล และโครงข่ายความเชื่อมโยง (Connectivity) ทางทะเล เป็นสารัตถะความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อปี 55 เมืองชินโจวได้นำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองท่าของจีนกับอาเซียน ก่อนที่จะเริ่มมีการดำเนินการอย่างจริงจังในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 9 (9th CAEXPO) ในปีถัดมา

อีกทั้ง โครงการดังกล่าวได้รับการยกให้เป็นผลสำเร็จของนายกรัฐมนตรี หลี่ เคอ เฉียง ในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16 (ปี 56) และเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือด้านกิจการทางทะเลจีน-อาเซียนประจำปีนี้ด้วย

โครงข่ายคมนาคมดังกล่าวกำหนดให้เมืองชินโจวเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อมุ่งผลักดันการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างเมืองท่าที่เกี่ยวข้องของจีนกับเมืองท่า 47 แห่งในอาเซียน อาทิ เส้นทางเดินเรือ การก่อสร้างท่าเรือ อุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเล การค้าระหว่างประเทศ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน