เครือข่ายเส้นทางรถไฟข้ามชาติ – กุญแจไขตลาดต่างชาติใหม่ของจีน

5 Jul 2013

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่อุปสงค์ภายในประเทศในการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเชื่อมเส้นทางคมนาคมเพื่อกระจายความเจริญสู่ชนบท จีนให้ความสำคัญกับการก่อสร้างระบบรางรถไฟโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 56 ผู้นำจีน-ยุโรปได้พบปะและย้ำความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์จีน-ยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟฉงชิ่ง -ซินเจียง-ยุโรปในฟอรั่มโอกาสการพัฒนาของมณฑล/นครภายใต้ความร่วมมือระหว่างจีน-ยุโรปจัดขึ้น ณ นครฉงชิ่ง

ภาพจาก http://mili.cn.yahoo.com/

เส้นทางรถไฟสายฉงชิ่ง -ซินเจียง-ยุโรปมีความยาวทั้งสิ้น 11,179 กม. เชื่อมโยงนครฉงชิ่งกับเมืองดุยซ์บวร์ก เยอรมัน โดยผ่านคาซัคสถาน รัสเซียเบลารุสและโปแลนด์ เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าโดยตลอดระยะทางใช้เวลาเพียง 16 วัน ซึ่งได้ร่นระยะเวลากว่า 20 วันเมื่อเทียบกับเส้นทางทางทะเลและประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 4 ใน 5 เมื่อเทียบกับเส้นทางทางอากาศ ในปี 2555 เส้นทางรถไฟฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรปขนส่งสินค้ารวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านหยวนระหว่างจีนกับยุโรป

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สินค้าจากภาคตะวันออกที่จีนส่งออกไปยุโรปยังใช้เส้นทางการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก โดยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือรอตเทอร์ดามก่อนแล้วค่อยกระจายไปทั่วยุโรป นอกจากนี้ นักธุรกิจยุโรปใช้เส้นทางฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรปน้อยมากเมื่อเทียบกับนักธุรกิจจีน เนื่องจากสินค้าที่จีนนำเข้าจากเยอรมันครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของสินค้าที่จีนนำเข้าจากยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นรถยนต์ และสินค้าเทคโนโลยีที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งใช้วิธีการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก

ช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา จีนได้เร่งการดำเนินการก่อสร้างระบบรางรถไฟอย่างต่อเนื่อง นอกจากโครงการระบบรางภายในประเทศ และเส้นทางรถไฟข้ามชาติอย่างเช่นรถไฟสายฉงชิ่ง – ซินเจียง – ยุโรปข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงเส้นทางรถไฟสายแพนเอเชีย (Pan – Asia Railway) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟข้ามชาติอีกสายหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่จับตา

โครงข่ายรถไฟสายแพนเอเชียแบ่งได้เป็น 3 สาย ได้แก่

1)สายตะวันออก เริ่มต้นที่นครคุนหมิง ผ่านเมืองเหมิงจื้อ เมืองเหอโขว่ของมณฑลยูนนาน เข้ากรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม แล้วเข้าสู่กรุงพนมเปญของกัมพูชา กรุงเทพฯของไทย กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและปลายทางที่สิงคโปร์

2)สายตะวันตก เริ่มต้นที่นครคุนหมิง ผ่านเมืองต้าหลี่ และเมืองรุ่ยลี่ แล้วเข้าเมืองย่างกุ้งของเมียนมาร์ ต่อไปยังกรุงเทพฯ ของไทย โดยช่วงนครคุนหมิง – เมืองต้าหลี่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

3)สายกลาง เริ่มต้นที่นครคุนหมิง ผ่านเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน แล้วเข้าสู่เวียงจันทน์ของลาว และกรุงเทพฯ ของไทย

ปัจจุบัน กรมรถไฟนครคุนหมิงกำลังเร่งการดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายตะวันตก สำหรับช่วงเหมิงจื้อ – เหอโขว่ของสายตะวันออกซึ่งสร้างเสร็จแล้วร้อยละ 64 และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จสิ้นได้ภายในปลายปีหน้า เมื่อเหมิงจื้อ – เหอโขว่สร้างเสร็จสิ้น จะสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายระบบรางของเวียดนาม ส่งผลให้ช่วยเพิ่มขีดความสารถการขนส่งสินค้าระหว่างจีน – เวียดนาม ตลอดจนเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอาเซียนอื่น ๆ ไปด้วย

ในอนาคต ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนหนาน จะอาศัยเส้นทางรถไฟแพนเอเชียนี้ก้าวเข้าสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดในประเทศอาเซียน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน