เครือข่ายเชื่อมโยงคมนาคมในยูนนานรุดหน้า: โอกาสเชื่อมไทยกับจีนตะวันตก

27 Aug 2013

แม้ยูนนานจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่เนื่องด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีอาณาเขตติดต่อกับ 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ลาว และเมียนมาร์ รวมระยะทาง 4,060 กม คิดเป็น 1 ใน 5 ของพรมแดนทางบกทั้งจีน ติดกับเมียนมาร์ 1,997 กม. เวียดนาม 1,354 กม. และลาว 710 กม. และอยู่ใกล้ไทย กัมพูชา บังกลาเทศ และอินเดีย เมื่อเดือน พ.ค. 2554 รัฐบาลจีนจึงได้อนุมัติยุทธศาสตร์ป้อมหัวสะพาน (Bridgehead Strategy) หรือภาษาจีนเรียกว่า “เฉียวโถวเป่า” ให้มณฑลยูนนานทำหน้าที่เสมือนเป็น “ป้อมปราการ ด่านแรก” ของภาคตะวันตกของจีน เพื่อเชื่อมดินแดนจีนตอนในกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการแสวงหาทางออกสู่ทะเล และได้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ 12 (2554-2558)

การจะเป็น “ป้อมหัวสะพาน” ที่สมบูรณ์แบบ จำเป็นต้องมีเครือข่ายการคมนาคมที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูง ในแต่ละปี รัฐบาลมณฑลยูนนานทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนาโครงข่ายสาธารณูปโภคด้านการคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีความก้าวหน้า สมกับการเป็นเมืองหน้าด่านด้านตะวันตกของจีนอย่างแท้จริง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 ของมณฑลยูนนาน (2554-2558) และยุทธศาสตร์ป้อมหัวสะพาน จึงได้กำหนดแผนการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีน กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ดังนี้

การคมนาคมทางบก

การคมนาคมทางบก แบ่งเป็น เส้นทางถนน และเส้นทางรถไฟ โดยปัจจุบัน มณฑล ยูนนานมีทางหลวงเชื่อมระหว่างมณฑล 7 สาย ได้แก่ คุนหมิง-ฉงชิ่ง คุนหมิง-ซัวเถา คุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง-กว่างโจว คุนหมิง-ปักกิ่ง คุนหมิง-ทิเบต และรุ่ยลี่(ชายแดนยูนนาน-เมียนมาร์)-หางโจว และทางด่วนเชื่อมระหว่างประเทศ 4 สาย ได้แก่ คุนหมิง-เหอโข่ว(เชื่อมเวียดนาม) คุนหมิง-บ่อหาน (เชื่อมลาวและไทย) คุนหมิง-รุ่ยลี่ (เชื่อมเมียนมาร์) และคุนหมิง-เถิงชง(เชื่อมเมียนมาร์และอินเดีย) ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่ได้เปิดใช้งานแล้ว โดย ณ สิ้นปี 2553 ยูนนานมีทางหลวงรวม 209,000 กม. และทางด่วน 2,630 กม. ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างทางหลวงเพิ่มเป็น 223,000 กม. และทางด่วนเพิ่มเป็น 4,500 กม. ภายในปี 2558 [1]

 

ทางหลวงระหว่างมณฑล 7 สาย

ทางหลวงระหว่างประเทศ 4 สาย

เส้นทาง

ระยะทาง

สถานะ

เส้นทาง

ระยะทาง

สถานะ

คุนหมิง-ฉงชิ่ง

838 กม.

เปิดใช้ตลอดเส้นทาง

คุนหมิง-บ่อหาน (R3A)

695 กม.

เปิดใช้ตลอดเส้นทาง

คุนหมิง-ซัวเถา

1,696 กม.

เปิดใช้แล้วบางส่วน โดยบางช่วงในมณฑลยูนนาน และกว่างโจว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

คุนหมิง-รุ่ยลี่

692 กม.

เปิดใช้แล้วบางส่วน คาดแล้วเสร็จปี 2557

คุนหมิง-เซี่ยงไฮ้

2,361 กม.

เปิดใช้ตลอดเส้นทาง

คุนหมิง-โหวเฉียว

683 กม.

เปิดใช้ช่วงคุนหมิง- เถิงชง เหลือช่วงเถิงชง-โหวเฉียวยังไม่เริ่มก่อสร้าง

คุนหมิง-กว่างโจว

1,432 กม.

เปิดใช้แล้วส่วนใหญ่ เหลือช่วงหงเหอ-สือหลิน

ในยูนนาน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

คุนหมิง-เหอโข่ว

412 กม.

เปิดใช้แล้วส่วนใหญ่

คุนหมิง-ปักกิ่ง

2,491 กม.

เปิดใช้ช่วงเสฉวน-ส่านซี สำหรับเส้นทางในปักกิ่ง มณฑลเหอเป่ย และบางส่วนในยูนนาน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

คุนหมิง – ทิเบต

2,300 กม.

เปิดใช้ตลอดเส้นทาง

รุ่ยลี่-หางโจว

2,981 กม.

เปิดใช้แล้วส่วนใหญ่ โดยเส้นทางในมณฑลกุ้ยโจว และ หูหนาน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ถึงแม้ยูนนานจะมีเส้นทางถนนที่มีความพร้อมสูง แต่ก็เร่งพัฒนาการเชื่อมโยงระบบราง ซึ่งเป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อรองรับการขนส่งประชาชน และสินค้าที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิประเทศของยูนนานส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับหุบเขา การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจึงใช้งบประมาณสูง โดยปี 2556 รัฐบาลยูนนานเตรียมงบประมาณก่อสร้างเส้นทางรถไฟ 21,700 ล้านหยวน หรือกว่า 1 แสนล้านบาท มากกว่าปี 2555 ถึง 1 เท่าตัว[2] ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า รัฐบาลยูนนานจะใช้งบประมาณเพื่อลงทุนด้านการรถไฟ ระหว่างปี 2556-2558 สูงถึง 1 แสนล้านหยวน[3]

ภายในปี 2563 มณฑลยูนนานจะมีเส้นทางรถไฟระหว่างมณฑล 8 สาย ได้แก่ ยูนนาน-ทิเบต คุนหมิง-หนานหนิง คุนหมิง-เสฉวน คุนหมิง-กุ้ยหยาง คุนหมิง-เฉิงตู ยูนนาน-กวางสี คุนหมิง-ฉงชิ่ง และคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ และเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงออกต่างประเทศ 4 สาย ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับเส้นทางรถไฟ Singapore-Kunming Rail Link (SKRL) ได้แก่ จีน-เวียดนาม จีน-ลาว-ไทย จีน-เมียนมาร์ และจีน-เมียนมาร์-อินเดีย ประกอบขึ้นเป็นเส้นทางรถไฟ “8 สายเข้ายูนนาน 4 สายออกต่างประเทศ” โดย ณ สิ้นปี 2553 มณฑลยูนนานมีเส้นทางรถไฟระยะทางประมาณ 2,500 กม. และตั้งเป้าหมายจะมีเส้นทางรถไฟที่เปิดใช้งาน 5,000 กม. ภายในปี 2558[4]

เส้นทาง

ระยะทาง

เวลาเดินทาง

สถานะ

เส้นทางรถไฟระหว่างมณฑล 8 สาย

ยูนนาน-ทิเบต

1,950 กม.

ช่วงคุนหมิง-แชงกรีล่า เดิมมีอยู่แล้ว

ช่วงแชงกรีล่า-ทิเบต คาดแล้วเสร็จปี 2558

คุนหมิง-หนานหนิง

898 กม.

12

เดิมมีอยู่แล้ว

คุนหมิง-เสฉวน

872 กม.

18

เดิมมีอยู่แล้ว

คุนหมิง-กุ้ยหยาง

828 กม.

12

เดิมมีอยู่แล้ว

คุนหมิง-เฉิงตู (ด่วน 200 กม/ชม)

737 กม.

5

คาดแล้วเสร็จปี 2563

ยูนนาน-กวางสี (ช่วงยูนนาน ด่วน 200 กม/ชม และช่วงกว่างซี ความเร็วสูง 250 กม/ชม)

715.8 กม.

5

คาดแล้วเสร็จปี 2559

คุนหมิง-ฉงชิ่ง (ความเร็วสูง 250 กม/ชม)

700 กม.

3

คาดแล้วเสร็จปี 2563

คุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ (ความเร็วสูง 350 กม/ชม)

2,181 กม.

8

คาดแล้วเสร็จปี 2558

เส้นทางรถไฟเชื่อมโยงออกต่างประเทศ 4 สาย

สายตะวันออก คุนหมิง-เหอโข่ว

390 กม.

1. คุนหมิง-ยวี่ซี 108 กม. ปัจจุบันเป็นรถไฟธรรมดา กำลังพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูง เริ่มก่อสร้าง มิ.ย.2552 คาดเสร็จในปี 2557

2. ยวี่ซี-เมิ่งจื้อ เปิดใช้งาน 23 ก.พ.2556 ระยะทาง 141 กม.

3. เมิ่งจื้อ-เหอโข่ว 141 กม. เริ่มก่อสร้าง ก.ค. 2552 คาดเสร็จ ก.ย. 2557

สายกลาง คุนหมิง-บ่อหาน

596 กม.

1. คุนหมิง-ยวี่ซี เป็นเส้นทางเดียวกับคุนหมิง-ยวี่ซีของสายตะวันออก

2. ยวี่ซี-บ่อหาน (ยวี่ซี่-ผูเอ่อร์-จิ่งหง-บ่อหาน) 488 กม. ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ได้รับบรรจุในแผนระยะกลางและระยะยาวด้านการพัฒนาเส้นทางรถไฟของรัฐบาลกลาง

สายตะวันตก คุนหมิง-รุ่ยลี่

612 กม.

1. คุนหมิง-ต้าหลี่ กำลังขยายเส้นทาง คาดแล้วเสร็จ พ.ค.2560 ร่นเวลาเดินทางเหลือ 2 ชม. แบ่งเป็น 2 ช่วง

1.1 คุนหมิง-กว่างทง 107 กม. เริ่มก่อสร้าง ต.ค. 2550 คาดเปิดใช้สิ้นปี 2556

1.2 กว่างทง-ต้าหลี่ 175 กม. เริ่มก่อสร้างปลายปี 2555

2. ต้าหลี่-เป่าซาน 134 กม. เริ่มก่อสร้าง มิ.ย.2551 คาดเสร็จปี 2557

3. เป่าซาน-รุ่ยลี่ 196 กม. เริ่มก่อสร้าง พ.ค. 2554 คาดเสร็จปี 2561

สายเหนือ คุนหมิง-โหวเฉียว

เส้นทางภายในประเทศส่วนใหญ่ใช้เส้นทางเดียวกับสายตะวันตก โดยแยกจากเมืองเป่าซานไปยังด่านโหวเฉียว อำเภอเถิงชง เพื่อเชื่อมต่อไปยัง เมียนมาร์ บังกลาเทศ และอินเดีย ช่วงเป่าซาน-โหวเฉียวยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง อยู่ระหว่างการดำเนินงานขั้นต้น

การคมนาคมทางน้ำ

แม่น้ำโขง ซึ่งช่วงที่ไหลผ่านมณฑลยูนนานมีชื่อเรียกว่า “แม่น้ำล้านช้าง” เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญของมณฑลยูนนาน เชื่อมต่อกับท่าเรือเมิ่งม่อของลาว ท่าเรือ ว่านเปิงของเมียนมาร์ และท่าเรือเชียงแสนของไทย มีความสำคัญในการเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนในมณฑลยูนนานกับเมียนมาร์ ลาว และไทย โดยท่าเรือสำคัญจะตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองชนชาติไทลื้อสิบสองปันนา ได้แก่

1. ท่าเรือจิ่งหง อยู่ห่างจากจุดตัดระหว่างประเทศจีน-เมียนมาร์-ลาว ตามเส้นทางน้ำ 101 กม. อยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ 334.6 กม. และอยู่ห่างจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย 402.1 กม. [5]

2. ท่าเรือก๋านหล่านป้า อยู่ห่างจากท่าเรือจิ่งหงลงมาทางทิศใต้ประมาณ 27 กม. เป็นท่าเรือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระของท่าเรือจิ่งหง

3. ท่าเรือกวนเหล่ย อยู่ห่างจากท่าเรือจิ่งหงลงมาทางทิศใต้ตามเส้นทางน้ำ 81 กม. หรือเส้นทางบก 157 กม. [6] ท่าเรือกวนเหล่ยเป็นด่านแรกของมณฑลยูนนาน เมื่อล่องเรือจากแม่น้ำโขงขึ้นไป เป็นจุดที่มีพรมแดนติดลาว และเมียนมาร์ ปัจจุบันเป็นท่าเรือหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนทางแม่น้ำโขง เนื่องจากท่าเรือจิ่งหงอยู่ในตัวเมืองไม่สะดวกต่อการเป็นท่าเรือขนส่ง นอกจากนี้ ท่าขนส่งสินค้า และผู้โดยสารที่ท่าเรือกวนเหล่ยจะช่วยแก้ปัญหาการล่องเรือในฤดูแล้งซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำมา

แม้ปริมาณผู้โดยสาร และสินค้าที่ขนส่งผ่านแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้างจะลดลงหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญในเดือน ต.ค. 2554 ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อความปลอดภัยในแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง แต่จากการที่จีน ลาว เมียนมาร์ และไทย ได้ร่วมกันทำการลาดตระเวนในเส้นทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ครั้งที่ 10 เมื่อเดือน พ.ค. 2556 พบว่า ปริมาณการเดินเรือในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 มีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ถือว่าปริมาณเรือที่เข้า-ออกท่าเรือกวนเหล่ยของจีน ท่าเรือเมิ่งม่อของลาว ท่าเรือว่านเปิงของเมียนมาร์ และท่าเรือเชียงแสนของไทย กลับเข้าสู่ระดับปกติ ประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขงล้วนมีระดับความพึงพอใจและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น[7]

การคมนาคมทางอากาศ

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2556 เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการเปิดใช้สนามบินนานาชาติฉางสุ่ยคุนหมิง หลังย้ายมาจากสนามบินอู่เจียป้า สนามบินแห่งเก่าของนครคุนหมิง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2555 โดยสนามบินคุนหมิงสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 38 ล้านคน เป็นสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากสนามบินปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว

มณฑลยูนนานมีสนามบินที่เปิดใช้งานแล้ว 12 แห่ง ได้แก่ สนามบินคุนหมิง สนามบินสิบสองปันนา สนามบินลี่เจียง สนามบินเต๋อหง สนามบินผู๋เอ่อร์ สนามบินเถิงชง สนามบิน เป่าซาน สนามบินเหวินซาน สนามบินเจาทง สนามบินหลินชัง สนามบินต้าหลี่ และสนามบินแชงกรีล่า โดยมีโครงการขยายสนามบินให้ครอบคลุมทุกเมืองของมณฑลยูนนาน รวมถึงขยายสนามบินเดิมให้ใหญ่ขึ้น

ปี 2555 มณฑลยูนนานเปิดเส้นทางการบิน 319 เส้นทาง (ภายในประเทศ 275 เส้นทาง) เชื่อมต่อกับ 118 จุดหมายปลายทาง (ภายในประเทศ 89 เมือง) มีสายการบินให้บริการ 37 ราย (ภายในประเทศ 22 ราย) [8] โดยใช้นครคุนหมิงเป็นจุดศูนย์กลาง สร้างเครือข่ายการบินกระจายไปตามเมืองต่างๆ ภายในมณฑล มณฑลโดยรอบ เมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ร่วมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้

เดือน ก.ค. 2556 สนามบินนานาชาติฉางสุ่ยคุนหมิงมีปริมาณเที่ยวบินขึ้น-ลง 2.3 หมื่นเที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 740 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 35.3 มีปริมาณผู้โดยสารตลอดทั้งเดือน ก.ค. 2556 จำนวน 2,755,800 คน เฉลี่ยวันละ 88,900 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 มีปริมาณการขนส่งสินค้า 2.4 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.5 อัตราการขยายตัวของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน

ปัจจุบัน มีสายการบินที่ให้บริการเส้นทางระหว่างไทยกับมณฑลยูนนานจำนวนหลายเส้นทาง ได้แก่ การบินไทย ให้บริการเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ สายการบิน China Eastern Airlines ให้บริการเส้นทาง คุนหมิง-กรุงเทพฯ สิบสองปันนา-กรุงเทพฯ ลี่เจียง-กรุงเทพฯ คุนหมิง-เชียงใหม่ และคุนหมิง-เชียงราย นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำนำนักท่องเที่ยวจีนไปยังประเทศไทยอีกหลายเส้นทาง ได้แก่ คุนหมิง-สุราษฎร์ธานี และคุนหมิง-ภูเก็ต เป็นต้น ในอนาคต จะมีสายการบินจีนเปิดให้บริการเส้นทางเชียงใหม่-สิบสองปันนา และเชียงราย-สิบสองปันนาด้วย

ศักยภาพของมณฑลภาคตะวันตก[9]

นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงสิ้นปี 2555 เศรษฐกิจมณฑลยูนนานขยายตัวใน อัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 ปี โดยปี 2555 ถือเป็นปีแรกที่มณฑลยูนนานมีมูลค่า GDP ทะลุ 1 ล้านล้านหยวน รัฐบาลมณฑลยูนนานได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2556 ไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน ที่กำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด มีประชากรรวม 500 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37 ของประชากรจีนทั้งประเทศ ผลผลิตมวลรวม (GDP) ของทั้ง 12 มณฑลภาคตะวันตกมากกว่า 11 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP ของจีน ขยายตัวจากปี 2554 มากกว่าร้อยละ 14 และช่วง 6 เดือนแรกปี 2556 มณฑลกุ้ยโจว และยูนนาน มีการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 12.5 และ 12.4 เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จัดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของจีน ตามลำดับ ขณะที่ปี 2555 และครึ่งแรกปี 2556 เศรษฐกิจจีนโดยเฉลี่ยเติบโตที่อัตราร้อยละ 7.8 และ 7.6 ตามลำดับ นอกจากนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคตะวันตกของจีนขยายตัวร้อยละ 25.7 ปีต่อปี ในขณะที่ภาคตะวันออกมี FDI ลดลงร้อยละ 1.1 ปีต่อปี[10] ภาคตะวันตกของจีนจึงเป็นตลาดที่ใหญ่ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก แต่มีการแข่งขันน้อยกว่าภาคตะวันออก สามารถเป็นตลาดรองรับสินค้าไทยได้ ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างจีนตะวันตกกับไทยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเข้าไปชมีส่วนร่วมในการเติบโตของจีนตะวันตกตั้งแต่เนิ่นๆ

ยูนนาน: โอกาสของไทยสู่จีนตะวันตก

ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งไทยและยูนนานมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่เป็นประตูสู่กันและกัน ด้วยการเชื่อมโยงทางคมนาคมบนเส้นทาง R3A ระหว่างภาคเหนือของไทย จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน การเชื่อมโยงทางบกของไทย ถึงด่านบ่อหาน มณฑลยูนนาน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง ซึ่งประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเลมายังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 วัน และยังต้องใช้เวลาขนส่งเข้ามายังมณฑลตอนใน รวมใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10-12 วัน เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรกรรม อาทิ ผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป

จากเส้นทาง R3A สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายเส้นทางคมนาคมของมณฑลยูนนาน ไปสู่เมืองหลักในมณฑลภาคตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากระยะเวลาขนส่งสินค้าที่ลดลง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการในมณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ใช้เส้นทางดังกล่าวขนส่งผลไม้จากไทย เนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งทางทะลประมาณ 4-5 วัน จากการสอบถามผู้ประกอบการขนส่งในนครเฉิงตู และฉงชิ่ง ได้หันมาใช้เส้นทาง R3A เพื่อขนส่งผลไม้ เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกและรวดเร็วกว่าการขนส่งทางทะเล และคาดว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เปิดใช้ และเมื่อมีการอำนวยความสะดวกการขนส่งคนและสินค้าบนเส้นทาง R3A ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น จะใช้เส้นทาง R3A เพื่อขนส่งผลไม้ และสินค้าต่าง ๆ จากไทย เพิ่มมากขึ้น

การที่รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบายมุ่งลงใต้ และพัฒนาภาคตะวันตกรอบใหม่ ส่งเสริมให้มณฑลภาคตะวันตกเพิ่มการค้า และการลงทุน กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และอาเซียน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลทางตะวันตกเอง ไทยจึงสามารถใช้โอกาสดังกล่าว และจากการมีที่ตั้งที่เหมาะสม อาศัยการเชื่อมโยงทางคมนาคมที่กำลังเป็นรูปร่างขึ้นในอนาคตเพิ่มการส่งออกสินค้าไทย ไปยังจีนตะวันตก อาทิ ฉงชิ่ง เฉิงตู กุ้ยโจว กว่างซีจ้วง เพื่อเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัวและมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นตลาดทางเลือกที่สำคัญสำหรับสินค้าไทย

[1] เว็บไซต์สำนักข่าว http://www.chinanews.com/df/2011/05-20/3056486.shtml

เว็บไซต์สำนักข่าว

[2] เว็บไซต์ข่าวรถไฟจีน http://www.chnrailway.com/news/20130219/0219436705.html

[3] เว็บไซต์รัฐบาลยูนนาน http://www.yn.gov.cn/yn_tzyn/yn_tzdt/201307/t20130712_11425.html

[4] เว็บไซต์สำนักข่าว http://www.yn.xinhuanet.com/newscenter/2010-11/26/content_21490213.htm

[5] เว็บไซต์สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (AQSIQ) http://tgyws.aqsiq.gov.cn/zwgk/ztxx/kakf/200701/t20070105_23668.htm

[6] เว็บไซต์สมาพันธ์ท่าเรือจีน http://www.port.org.cn/info/200806/109517.htm

[7] เว็บไซต์สำนักข่าว http://news.xinhuanet.com/legal/2013-05/22/c_124748434.htm

[8] เว็บไซต์สำนักข่าว http://www.china.com.cn/travel/txt/2013-01/16/content_27700206.htm

[9] มณฑลภาคตะวันตก 12 มณฑล ได้แก่ ยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน ฉงชิ่ง กว่างซี มองโกเลียใน ส่านซี กานซู หนิงเซี่ย ชิงไห่ ทิเบต และซินเจียง

[10] สำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงปักกิ่ง

นายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (นครคุนหมิง)

เขียน

นายธนพ ปัญญาพัฒนากุล

ตรวจ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน