อานิสงส์ “ม้าเหล็กเส้นทางโลจิสติกส์ฉงชิ่งสู่ยุโรป” รัฐบาลโปแลนด์ยกเลิกภาษีวิสาหกิจทุกรายจากนครฉงชิ่ง

19 Sep 2013

นับตั้งแต่ “เส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางสายนครฉงชิ่งสู่ภาคพื้นยุโรป” เริ่มเปิดใช้บริการขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ส่งผลให้ความร่วมมือภาคการค้าระหว่างประเทศระหว่างนครฉงชิ่งกับประเทศในทวีปยุโรปเป็นรูปธรรมมากขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศโปแลนด์ หนึ่งในประเทศสถานีทางผ่านหลักที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงกับเส้นทางโลจิสติกส์สายดังกล่าว

เพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโปแลนด์กับนครฉงชิ่ง ไม่นานมานี้ รัฐบาลโปแลนด์จึงได้บุกเบิกและทุ่มทุนสร้าง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจ” ในเมืองสำคัญขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 10 แห่ง อีกทั้งออกมาตรการส่งเสริมการ “ก้าวเข้ามา” ลงทุนของวิสาหกิจฉงชิ่ง รวมถึง “ยกเลิกการเก็บภาษี” และมาตรการอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนแดนมังกรจากนครฉงชิ่งโดยเฉพาะ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หากย้อนพลิกดูสถิติ “การสำรวจโอกาสการลงทุนทั่วโลกในอนาคต” ประจำปี 2555 ของสหประชาชาติ พบว่า โปแลนด์ ถูกจัดให้เป็นดินแดนที่น่าลงทุนอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งจากสถิติดังกล่าวแล้ว สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้แก่กลุ่มวิสาหกิจนครฉงชิ่งที่กำลังเตรียม “ก้าวออกมา” ลงทุนยังโปแลนด์ได้อีกเป็นเท่าตัว

สำหรับภาคการค้าระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งกับโปแลนด์ตลอดปี 2555 มีมูลค่ารวมที่ 324.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น นครฉงชิ่งส่งออกสินค้าไปยังโปแลนด์มูลค่า 313.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก อาทิ ชุดอุปกรณ์ระบบสตาร์ท อุปกรณ์ระบบสื่อสารในรถยนต์ และเหล็กกล้า เป็นต้น และนครฉงชิ่งนำเข้าจากโปแลนด์มูลค่า 11.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อะไหล่ยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2556 สมาคมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนครฉงชิ่งได้ลงนามความร่วมมือกับกรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศโปแลนด์ในสัญญา “การค้าทวิภาคี” เพื่อกระตุ้นภาคการนำเข้า-ส่งออกของทั้งสองฝ่าย สร้างและขยายช่องทางการค้า รวมถึงโอกาสความร่วมมือในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่

อนึ่ง เส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางสายนครฉงชิ่งสู่ภาคพื้นยุโรป เริ่มต้นจากสถานีนครฉงชิ่ง อาลาซานโข่ว รัสเซีย โปแลนด์ ปลายทางที่เมืองดุยส์บูรส์ เยอรมนี ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 17 วัน รวมเป็นระยะทางประมาณ 11,179 กม. โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการขนส่งสินค้าจากจีนสู่ยุโรปโดยอาศัยเส้นทางขนส่งดังกล่าวแบ่งเป็นในปี 2554 จำนวน 17 เที่ยวและปี 2555 จำนวน 41 เที่ยว

ทั้งนี้ การเติบโตอย่างมั่นคงของเส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางสายดังกล่าว จะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการขนส่งสินค้าจากจีนตอนในสู่ภาคพื้นยุโรป กระตุ้นภาคธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดจนภาคการค้าและการลงทุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครฉงชิ่ง สานต่อความสำเร็จภาคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ปูทางสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญทางโลจิสติกส์แห่งภูมิภาคจีนตะวันตกอย่างสมบูรณ์

สามารถสอบถามข้อมูลทั่วไปกับศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนได้โดยผ่านทางอีเมลล์ [email protected]

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน