หูหนานเปิดตัวรถไฟวิ่งบนรางเสมือนแบบไร้คนขับ ขบวนแรกของโลก
31 Jul 2017บริษัทศูนย์วิจัยรถไฟจีน CRRC Zhuzhou Locomotive Co., Ltd. ณ เมืองจูโจว มณฑลหูหนาน ได้เปิดตัวรถไฟวิ่งบนรางเสมือน ขบวนแรกของโลก ซึ่งเป็นรถที่ผสมผสานระหว่างข้อดีของรถรางกับรถโดยสารสาธารณะ (รถบัส) เข้าด้วยกัน ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบการเดินรถ และ ปี 2561 จึงจะดำเนินการในลักษณะเชิงพาณิชย์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาจราจรของเมืองใหญ่ในอนาคต
รถไฟรางเสมือน หรือ รถรางอัจฉริยะ ถูกออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีรางเสมือนในการควบคุม โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์นำทางเดินรถ ซึ่งข้อมูลการเดินรถจะถูกส่งเข้าไปที่ “สมอง” หรือ หน่วยควบคุมส่วนกลาง รวมเรียกว่า ระบบ Autonomous rail Rapid Transit (ART) ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ระบบไร้คนขับได้อีกด้วย
CRRC เริ่มวิจัยระบบ ART มาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันที่นำมาทดลองวิ่งเป็นรถรางขนาด 3 ตู้ ความยาว 31.64 เมตร กว้าง 2.66 เมตร และสูง 3.4 เมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 307 คน หรือรองรับน้ำหนักได้ราว 48 ตัน (หากเป็นรถรางขนาด 5 ตู้ จะรองรับผู้โดยสารได้ 500 คน) วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม. โครงสร้างรถเป็นพื้นต่ำประมาณ 3.3 ซม. เพื่อสะดวกต่อการขึ้นลงของผู้โดยสาร ขับเคลื่อนด้วยล้อยางขนาดเล็ก แทนระบบรางเหล็ก ทำให้การวิ่งบนท้องถนนดูเหมือนรถบัส และใช้ระบบไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ลิเธียมไททาเนต (lithium titanate) ซึ่งใช้เวลาในการชาร์จไฟเพียง 10 นาที รถก็สามารถวิ่งได้ถึง 25 กม.
ดร. เฝิง เจียงหัว หัวหน้าโครงการรถรางอัจฉริยะและรองผู้จัดการใหญ่บริษัทศูนย์วิจัย CRRC Zhuzhou Locomotive ได้กล่าวถึงต้นทุนการสร้างรถรางอัจฉริยะว่า ปัจจุบัน การก่อสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินของจีนระยะทาง 1 กม. จะใช้เงินลงทุน 400-700 ล้านหยวน ส่วนรถรางทันสมัย (Modern Tram) จะใช้เงินลงทุน 150-200 ล้านหยวน แต่หากเป็นรถรางอัจฉริยะจะใช้เงินลงทุน 1 ใน 5 ของรถรางทันสมัย หรือก็คือ หากสร้างเส้นทางรถรางอัจฉริยะ 10 กม. จะสามารถประหยัดเงินได้กว่า 1,000 ล้านหยวน เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างรถรางทันสมัย
http://news.xinhuanet.com/2017-06/22/c_1121192004.htm