หูหนานเดินรถไฟขนส่งสินค้าไปยุโรปทุกวันสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19
8 Feb 2021เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปได้เดินทางออกจากนครฉางซาของมณฑลหูหนานไปยังจุดหมายปลายทางที่กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป เที่ยวที่ 32 ซึ่งเดินทางออกจากนครฉางซานับตั้งแต่ต้นปีนี้ที่มีการปรับตารางเดินรถไฟขบวนข้างต้นเป็นทุกวัน วันละหนึ่งเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคระบาดระดับโลก รวมถึงสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19
สำหรับขบวนรถไฟเที่ยวล่าสุดดังกล่าวได้บรรทุกสินค้าจีนจำพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าโภคภัณฑ์ขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มสินค้าจีนที่มียอดจำหน่ายสูงในทวีปยุโรป ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และสินค้าโภคภัณฑ์ขนาดเล็ก โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจากนครฉางซาได้ขนส่งสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น และเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตในหูหนาน กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ และเจียงซู ไปยังประเทศในทวีปยุโรป เช่น เบลารุส เยอรมนี และโปแลนด์ ขณะเดียวกัน ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป
ยังมีบทบาทสำคัญในการลำเลียงวัตถุดิบสำคัญที่หูหนานต้องการ เช่น ไม้ กลับมายังมณฑลอีกด้วย โดยนครฉางซานับเป็นด่านที่มีปริมาณการนำเข้าไม้จากรัสเซียสูงเป็นอันดับที่ 4 ของจีน
ในปี 2563 มีบริษัทซึ่งจดทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการขนส่งของขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจากนครฉางซารายใหม่จำนวน 58 ราย มียอดซื้อขายรวมมากกว่า 4,500 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 130 จากปี 2562 ส่งผลให้นครฉางซากลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ รวมถึงเป็นแหล่งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านการค้าสินค้าและอุตสาหกรรมการผลิต
ปัจจุบัน หน่วยงานกำกับดูแลด่านนครฉางซาได้จัดตั้งกลไกประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง บริษัท
ผู้ให้บริการขนส่งระบบราง บริษัทที่เกี่ยวข้อง ศุลกากร ตลอดจนบริษัทผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และระบบการขนส่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยในการให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป
ศูนย์การขนส่งนครฉางซาของบริษัท China Railway Guangzhou Group เน้นความสำคัญของการปฏิบัติการ การลำเลียงสินค้า และการขนส่งตามรูปแบบ “การขนส่งแบบบูรณาการ” (integrative transportation) ซึ่งส่งผลให้ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจากนครฉางซามีความรวดเร็วปราศจากปัญหาความล่าช้า โดยมีประสิทธิภาพโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และประสิทธิภาพด้านการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ที่สำคัญ ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปที่ดีที่สุดอีกด้วย
ที่มา: http://www.enghunan.gov.cn/hneng/News/Localnews/202102/t20210204_14398393.html