ส่านซีเตรียมทุ่มงบ 250,000 ล้านหยวนเดินหน้าโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงในซีอาน
13 Oct 2015การพัฒนาภาคการขนส่งของมณฑลส่านซี ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่พื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมในระบบรางของมณฑลส่านซี ที่ถูกวางแผนให้เป็นพื้นที่หลักในการกระจายและเชื่อมต่อความเจริญออกไปยังพื้นที่โดยรอบเขตตะวันตกเฉียงเหนือ
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของมณฑลส่านซี (ปี 2010-2015) นครซีอานมีเป้าหมายพัฒนาเส้นทางคมนาคมภายใต้แนวคิด “One day transportation” ที่มุ่งพัฒนาตนเองสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคม ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของประเทศจีน โดยในช่วงแผนพัฒนาฯที่ 12 มณฑลส่านซีทุ่มงบประมาณในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมไปกว่า 380,000 ล้านหยวน ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ใช้งบประมาณไปกว่า 124,000 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ของงบประมาณด้านการคมนาคมทั้งหมด
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่กำลังจะบังคับใช้ มณฑลส่านซีประกาศงบประมาณการลงทุนในส่วนของการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั้งสิ้น 250,000 ล้านหยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.45 จากงบประมาณด้านการคมนาคมทั้งหมด 550,000 ล้านหยวน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกลางให้ความสนใจต่อการพัฒนาเส้นทางการขนส่งระบบรางในพื้นที่ไร้ทางออกสู่ทะเลเพื่อเป็นเส้นทางพื้นฐานในการขนส่งสินค้า/ประชากรในพื้นที่ ตลอดจนสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลฯ คาดว่าเมื่อโครงการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว นครซีอานจะกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงที่ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญต่างๆในรัศมีกว่า 4,600 ก.ม.
มณฑลส่านซีมีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในเขตจุดศูนย์กลางของประเทศจีน
ล่าสุดรัฐบาลมณฑลส่านซีประกาศโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงนครซีอานเข้ากับ 8 หัวเมืองหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ของมณฑล ดังนี้
1. โครงการรถไฟความเร็วสูง เปาโถว (เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน) – ซีอาน (Baotou – Xi’an High Speed Railway) ระยะทาง 2,307 ก.ม.
หนึ่งในเส้นทางเดินรถเส้น Baotou-Xi’an-Haikou (Hainan) สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจากนครเปาโถว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน –นครซีอาน มณฑลส่านซี จากเดิม 16 ชั่วโมงเหลือเพียง 6 ชั่วโมง
2. โครงการรถไฟความเร็วสูง อันคัง (มณฑลส่านซี) – ซีอาน (Ankang – Xi’an High Speed Railway) ระยะทาง 216 ก.ม.
สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิม 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 45 นาที ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่รัฐบาลหมายมั่นจะให้เป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อจีนตะวันออกเฉียงเหนือไปยังภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีน เริ่มเปิดให้บริการปี 2017
3. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงซีอาน-เฉิงตู (Xi’an – Chengdu High Speed Railway) ระยะทาง 634 ก.ม.
การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงซีอาน – เฉิงตูเริ่มเมื่อปี 2012 โดยรัฐบาลวางเป้าหมายให้เป็นเส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างจีนตะวันตกเฉียงเหนือและจีนตะวันตกเฉียงใต้โดยจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2560 ร่นระยะเวลาการเดินทางจาก13 ชั่วโมงเหลือเพียง 3 ชั่วโมง กำหนดเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกในวันที่ 30 พ.ย. 2560
4. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซีอาน-หยินชวน (เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย) (Xi’an – Yinchuan High Speed Railway) ระยะทาง 615.47 ก.ม.
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือ สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจาก 14 ชั่วโมงเหลือ 3 ชั่วโมง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อมิ.ย. 2015 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2020
5. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซีอาน-อู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) (Xi’an – Wuhan High Speed Railway) ระยะทาง 395 ก.ม.
เส้นทางเชื่อมต่อกับมณฑลหูเป่ย มณฑลใหญ่ที่สุดทางพื้นที่ตะวันออกกลางของประเทศจีนและมีดัชนีทางเศรษฐกิจและการค้าอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศ รัฐบาลส่านซีเชื่อว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงซีอู่ (Xi’an-Wuhan) นอกจากจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวรวมไปถึงการขนส่งสินค้าแล้ว ยังสามารถเปิดโอกาสความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา เนื่องจากนครอู่ฮั่นมีนิคมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับชาติถึง 3 แห่งและมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมใยนำแสง โดยเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงสามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิม 12 ชั่วโมงเหลือเพียง 4 ชั่วโมง เริ่มเปิดให้บริการปี 2016
6. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซีอาน-ฉงชิ่ง (Xi’an – Chongqing High Speed Railway) ระยะทาง 780 ก.ม.
เริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือน มีนาคม 2015 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2020 ซึ่งจะสามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจาก 13 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง
7. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซีอาน-หนานจิง (มณฑลเจียงซู) (Xi’an – Nanjing High Speed Railway) ระยะทาง 1,379 ก.ม.
สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิม 12 ช.ม. เหลือเพียง 5 ชั่วโมง เส้นทางดังกล่าวเชื่อมเข้ากับเส้นรถไฟความเร็วสูงเจิ้งโจว-สวีโจว ส่งผลให้การเดินทางไปยังภาคตะวันออกของจีนจากนครซีอานทำได้รวดเร็วขึ้น
บทสรุป
โครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมในแผนพัฒนาฯที่ 13 โครงการก่อสร้างทั้งหมดนี้นอกจากจะยกระดับให้นครซีอานเป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายใน 1 วันที่สามารถเดินทางไปยังต่างเมือง(ในมณฑล) โดยใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงและต่างมณฑลภายในเวลา 2 – 12 ชั่วโมงได้แล้ว ยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนำพาโอกาสและความร่วมมือมาสู่พื้นที่จีนตะวันตกตอนในอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
1. http://www.sxdaily.com.cn/n/2015/1010/c335-5747817-2.html