ส่องยุทธศาสตร์โลจิสติกส์นครคุนหมิง: ช่องทางกระจายสินค้าไทยภาคเหนือสู่จีน

9 Sep 2013

ตั้งแต่ปี 2554 ยูนนานได้เปิดตัวเองให้เป็นประตูเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอเชียใต้ และมณฑลภายในของจีน โดยมีคุนหมิงเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ภาคกลางของยูนนาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “หัวสะพาน” ซึ่งรัฐบาลจีนให้ความเห็นชอบ และได้บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2554-2558)พร้อมทั้งผลักดันการสร้างระเบียงเศรษฐกิจ 4 เส้นทาง คือ คุนหมิง-ฮานอย คุนหมิง-กรุงเทพคุนหมิง-ย่างกุ้ง และคุนหมิง-กัลกัตตา และการพัฒนาทางถนนและระบบรางเชื่อมกับมณฑลตอนในของจีน (เขตเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง) ซึ่งมีคุนหมิงเป็นเสมือนจุดศูนย์กลาง และชุมทางการเชื่อมต่อ

ทุกวันนี้ คุนหมิงเร่งพัฒนาระบบคมนาคมอย่างมาก ถ้าใครมาคุนหมิงในช่วงนี้ จะพบว่าถนนหนทางอยู่ระหว่างการขุดเจาะจำนวนไม่น้อย ทั้งทางด่วน รถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูง เพราะมีเป้าหมายว่า ในอนาคตอันใกล้ จะใช้เวลาเดินทางภายในมณฑล 2 ชม. เฉิงตู-ฉงชิ่ง 3-4 ชม. กว่างโจว 6 ชม. เซี่ยงไฮ้ 8 ชม. และปักกิ่ง 10 ชม. อีกทั้งมีการก่อสร้างอาคารแถบชานเมืองคุนหมิงจำนวนมาก มีการสร้างเมืองใหม่ในอำเภอเฉิงก้ง ที่ห่างจากตัวเมืองคุนหมิงราว 20 กม. เพื่อให้เป็นแหล่งรวมสถาบันการศึกษา ศูนย์ราชการและย่านธุรกิจ

ส่อง “แผนพัฒนาโลจิสติกส์นครคุนหมิง”

การเร่งผลักดันระบบคมนาคมของนครคุนหมิง เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการขนส่งคนและสินค้า รองรับการพัฒนาความเป็นเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จากการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งของจีน คาดการณ์ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าในนครคุนหมิงจะเพิ่มจาก 137 ล้านตันในปี 2553 เป็น 323 ล้านตันในปี 2563 โดยในปัจจุบัน มีปริมาณการขนส่งประมาณ 170 ล้านตัน รัฐบาลนครคุนหมิงได้กำหนด “แผนพัฒนาโลจิสติกส์อันทันสมัยนครคุนหมิง 2554-2558” และเตรียมงบประมาณ 1.12 ล้านล้านหยวน เพื่อพัฒนานครคุนหมิงเป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างจีนตอนในและอาเซียน หรือที่ภาครัฐนครคุนหมิงเรียกว่า “เครือข่าย 1234” นั่นเอง

ในส่วนของแผนการก่อสร้างซึ่งเรียกว่า “แผนก่อสร้าง 1951”ประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจเมืองท่าทางบกระหว่างประเทศ 1 แห่ง เส้นทางสัญจรโลจิสติกส์ที่สำคัญ 9 สายใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จุดข้อต่อโลจิสติกส์เชิงยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ 5 จุด และศูนย์ข้อมูลโลจิสติกส์สำหรับเมืองท่าทางบกระหว่างประเทศ 1 แห่ง

เขตเศรษฐกิจเมืองท่าทางบกระหว่างประเทศจะประกอบไปด้วย

1. เขตโลจิสติกส์นครคุนหมิง 5 แห่ง ได้แก่ เขตโลจิสติกส์จิ้นหนิง (晋宁东南亚国际陆港) เขตโลจิสติกส์หวังเจียหยิง (王家营铁路集装箱陆港基地) เขตโลจิสติกส์สนามบิน (国际空港物流基地) เขตโลจิสติกส์ซงหมิง(嵩明物流陆港基地) และเขตโลจิสติกส์อานหนิง (安宁南亚国际陆港)

2. ศูนย์จัดส่งสินค้า 14 แห่ง เช่น ศูนย์โลจิสติกส์ศูนย์การค้านานาชาติหลัวซือวาน ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าเกษตรเขตผานหลง และศูนย์โลจิสติกส์การค้าดอกไม้นานาชาติโต่วหนาน ศูนย์จัดส่งสินค้าใบยาสูบ ศูนย์จัดส่งวัสดุเหล็กกล้า และศูนย์จัดส่งใบชา รวมถึงคลังสินค้าและห้องแช่แข็งต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าอาหาร ยางพารา ห้องเย็น เวชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

เขตโลจิสติกส์ทั้ง 5 แห่ง ตั้งอยู่ในแนวเส้นทางคมนาคมหลัก 2 แนว คือ

1. แนวเส้นทางเหนือ-ใต้ ได้แก่

เขตโลจิสติกส์จิ้นหนิง มีจุดเด่นที่เชื่อมการขนส่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านเมืองยวี่ซี เพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟและทางด่วนสู่ลาวและเวียดนาม คือ เส้นทางคุนหมิง-บ่อหาน เชื่อมกับลาว และเส้นทางคุนหมิง-เหอโข่ว เชื่อมกับเวียดนามพื้นที่โครงการแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) international land port พื้นที่ประมาณ 2,000 หมู่ (ประมาณ 830 ไร่) ปัจจุบัน การก่อสร้างระยะที่ 1 (คลังสินค้า 12 อาคาร) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และแผนการก่อสร้างระยะที่ 2 ประกอบด้วย การปรับพื้นที่เป็นลานตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 100,000 ตร.ม. สามารถรองรับการขนส่งประมาณ 16 ล้านตัน/ปี และ (2) ศูนย์การค้านานาชาติ พื้นที่ประมาณ 1,500 หมู่ (ประมาณ 670 ไร่) จะเริ่มก่อสร้างในปี 2556

เขตโลจิสติกส์จิ้นหนิงเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเถิงจวิ้น ซึ่งเป็นศูนย์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศครบวงจร รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียนบนเส้นทางR3A และระบบการขนส่งทางรางแพนเอเชียสายกลาง (จีน-ลาว-ไทย) และสายตะวันออก (จีน-เวียดนาม-ไทย) มีขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมไปสู่มณฑลตอนใน 8 ล้านตัน/ปี ออกสู่ต่างประเทศ 4 ล้านตัน/ปี และการขนส่งทางถนนอีก 8 ล้านตัน/ปี รวม 20 ล้านตัน/ปี

นิคมอุตสาหกรรมเถิงจวิ้นจะนำระบบ E-commerce มาใช้บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า ตั้งแต่การสั่งสินค้า และการกระจายสินค้า และจะตั้งพื้นที่คลังสินค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยจัดให้มีการตรวจพร้อมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Single-Window Inspection) และมีการตรวจสอบสินค้าเพียงครั้งเดียว (Single-Stop Inspection) โดยไม่ต้องเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสินค้าอีกที่ด่านชายแดนจีน-ลาว

เขตโลจิสติกส์หวังเจียหยิงมีที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อำเภอเฉิงก้ง และครอบคลุมพื้นที่ Kunming Economic and Technological Development Zone หวังเจียหยิงเป็นเครือข่าย Railway Container Center Station 1 ใน 18 แห่งของจีนและเป็นชุมทางรถไฟแห่งเดียวของยูนนานที่เชื่อมการขนส่งกับ “เส้นทางรถไฟภายในประเทศของยูนนาน 8 สาย และเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ 4 สาย”ซึ่งเชื่อมต่อเครือข่ายระบบขนส่งทางรางภายในประเทศ 8 สายเชื่อมไปยังเซี่ยงไฮ้ ทิเบต เสฉวน ฉงชิ่ง กว่างซี และระหว่างประเทศ 4 สายที่เชื่อมไปเวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และเมียนมาร์-บังกลาเทศ-อินเดีย จะทำให้สามารถขนส่งสินค้าสู่มณฑลตอนในของจีน และไปต่างประเทศ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเขตโลจิสติสก์หวังเจียหยิงได้พัฒนาฐานรองรับด้านโลจิสติกส์ทันสมัย มีจุดขนถ่ายสินค้า พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงอุปกรณ์การขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัย และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คลังสินค้า ห้องเย็น ศูนย์โลจิสติกส์ตู้คอนเทนเนอร์ระบบราง และจุดตรวจสินค้าและภาษี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการนำเข้า-ส่งออก และการกระจายสินค้าที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ที่มาสู่มณฑลยูนนาน ไปยังมณฑลตอนในของจีนโดยระบบขนส่งทางราง ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเริ่มพัฒนาโครงการระยะที่ 2

เขตโลจิสติกส์สนามบินฉางสุ่ย สนามบินฉางสุ่ยเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่อันดับ 4 ของจีน รองจากสนามบินกรุงปักกิ่ง สนามบินผู่ตงนครเซี่ยงไฮ้และสนามบินไป๋หยุนนครกว่างโจวถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้โดยสารถึง 38 ล้านคนภายในปี 2563และรองรับสินค้าและพัสดุภัณฑ์ราว 1 ล้านตัน (เฟส 2 จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคน)

เขตโลจิสติกส์ซงหมิง เป็นเขตสินค้าทัณฑ์บนที่ตั้งอยู่ในอำเภอเดียวกันกับสนามบินฉางสุ่ย และสามารถขยายไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานผ่านเมืองจาวทง เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตได้และสามารถเชื่อมสู่มณฑลเสฉวน ฉงชิ่ง และปักกิ่งต่อไป

2. เส้นทางตะวันออก-ตะวันตกได้แก่เขตโลจิสติกส์อานหนิง – เอเชียใต้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของคุนหมิง ครอบคลุมพื้นที่เมืองอานหนิง เขตซีซาน และKunming High-tech Industrial Development Zoneคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จปี 2559 สามารถเชื่อมโยงทางทิศตะวันตกไปเมืองฉู่สงเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายตะวันตก (คุนหมิง-ฉู่สง-รุ่ยลี่-เมียนมาร์) และไปทิศตะวันออกผ่านคุนหมิงสู่เมืองฉวี่จิ้ง เชื่อมต่อกับทางด่วนหังโจว-รุ่ยลี่ และรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ที่เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงไปสู่กว่างโจวคาดเสร็จราวปี 2558 เขตโลจิสติกส์อานหนิงเป็นเส้นทางผ่านของท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ ซึ่งลากจากเมืองเจียวเพียวผ่านมัณฑเลย์เข้าจีนยูนนานที่เมืองรุ่ยลี่เขตปกครองตนเองเต๋อหง ผ่านอานหนิงเข้าคุนหมิง โดยท่อน้ำมันซึ่งมีกำลังขนส่งปีละ22 ล้านตันจะแยกไปเมืองอานซุ่น มณฑลกุ้ยโจว เข้าสู่ฉงชิ่ง (ปัจจุบัน มีความคืบหน้าร้อยละ 94 คาดเปิดอย่างเป็นทางการปลายปี 2556) ในขณะที่ท่อก๊าซธรรมชาติกำลังขนส่งปีละ 12,000 ล้านลบ.ม. จะไปจบที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2556) ทั้งนี้ รัฐบาลคุนหมิงได้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่มีขีดความสามารถกลั่นน้ำมันได้10 ล้านตัน/ปี รองรับท่อขนส่งน้ำมันจีน-เมียนมาร์ด้วย

โอกาสและช่องทางกระจายสินค้าไทย

ภายใต้ “แผนพัฒนาโลจิสติกส์ทันสมัยแห่งนครคุนหมิง” กับยุทธศาสตร์เขตโลจิสติกส์ทั้ง 5 แห่ง เพื่อรองรับการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อมณฑลยูนนาน กับจุดศูนย์กลางสำคัญอื่น ๆ ทางมณฑล 2 ฝั่ง ส่งผลให้นครคุนหมิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานกระจายสินค้าจากเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย และเอเชียใต้ สู่จีนตอนใน โดยเฉพาะจีนภาคตะวันตก[1] ซึ่งมีประชากรราว 500 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37 ของประชากรจีน และมีมูลค่าผลผลิตมวลรวม (GDP)ในปี 2555 11.4ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP ของจีนขยายตัวจากปี 2554 มากกว่าร้อยละ 14 และนโยบายมุ่งลงใต้และพัฒนาภาคตะวันตกรอบใหม่ส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยในครึ่งแรกปี 2556 GDP มณฑลกุ้ยโจว และยูนนานขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.5 และ 12.4 เป็นอันดับ 1 และ 2 ของจีนตามลำดับ ขณะที่ปี 2555 เศรษฐกิจจีนโดยรวมเติบโตที่อัตราร้อยละ 7.8 จึงเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง อีกทั้งการแข่งขันน้อยกว่าภาคตะวันออกของจีน จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเข้ามาใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเชื่อมโยงทางคมนาคมและฐานโลจิสติกส์ที่เตรียมพร้อมรองรับการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนในอนาคตอันใกล้

การพัฒนาเขตโลจิสติกส์ 5 แห่งในนครคุนหมิง จะเป็นฐานสำคัญสำหรับการกระจายสินค้าไทยที่เข้ามายังมณฑลยูนนานไปยังตลาดมณฑลตะวันตกของจีน ในปัจจุบัน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเถิงจวิ้นจะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะสามารถรองรับการขนส่งสินค้าบนเส้นทาง R3A และการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 และการอำนวยความสะดวกการขนส่งคนและสินค้าข้ามพรมแดนไทย-ลาว-จีน เพื่อส่งสินค้าไทยเข้ามายังศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าว ซึ่งสินค้าไทยจะผ่านกระบวนการตรวจพร้อมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Single-Window Inspection) ณ จุดดังกล่าว และในโครงการการลงทุนศูนย์โลจิสติกส์ที่นิคมอุตสาหกรรมเชียงของเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไทยทาง R3A ได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง


[1] มณฑลภาคตะวันตก 12 มณฑล ได้แก่ ยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน ฉงชิ่ง กว่างซี มองโกเลียใน ส่านซี กานซู หนิงเซี่ย ชิงไห่ ทิเบต และซินเจียง

หมายเหตุ

เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (
Pan-Pearl River Delta (Pan-PRD)) 泛珠三角ประกอบด้วย 9 มณฑล ได้แก่3 มณฑลชายฝั่ง คือกวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน 2 มณฑลตอนกลาง คือ หูหนาน และเจียงซี และ 4 มณฑลตอนใน คือ เสฉวน ยูนนาน กว่างซี และกุ้ยโจว และร่วมมือกับอีก 2 เขตบริหารพิเศษของจีน คือ ฮ่องกง และมาเก๊า รวมเรียกว่า "กลุ่ม 9+2" ครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของประเทศจีน

เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta)长三角ประกอบด้วย 16 เมือง ได้แก่นครเซี่ยงไฮ้ 8 เมืองในมณฑลเจียงซู และ 7 เมืองในมณฑลเจ้อเจียง

<!–

จัดทำโดยธิดารัตน์ วนพฤกษาศิลป์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง

วันที่ 9 สิงหาคม 2556

แหล่งข้อมูล


คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติประจำนครคุนหมิง

เวปไซต์ข่าว www.yn.xinhuanet.com

เอกสารจากโครงการ Gallops International Land Port ภายใต้เขตโลจิสติกส์จิ้นหนิง

–>

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน