สนามบินหนานหนิง ต้นแบบศูนย์รวมการเดินทางของจีนกับอาเซียนในอนาคต
23 Oct 2019ไฮไลท์
- นครหนานหนิงกำลังพัฒนาโครงการ “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” (Ground Transportation Centre – GTC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง และศูนย์ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo Complex)
- เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางได้แบบไร้รอยต่อระหว่างเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง รถขนส่งมวลชน และรถแท็กซี่ ช่วยให้ผู้โดยสารได้สัมผัสประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมบทบาทของสนามบินให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
- ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงอยู่ระหว่างการกำลังสร้างศูนย์บริการ single window สำหรับงานโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากร เพื่อสนับสนุนการเป็นด่านท่าอากาศยานเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
- บริษัท Guangxi Shunfeng Express เพิ่งเปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าแบบเที่ยวประจำเป็นครั้งแรกของกว่างซี ในเส้นทางนครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์ ซึ่งช่วยลดวงจรโลจิสติกส์และลดต้นทุนประกอบกิจการของภาคธุรกิจ ยกระดับฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์ทางอากาศในภูมิภาค และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศได้อีกด้วย
นครหนานหนิงเดินหน้าโครงการพัฒนา “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” (Ground Transportation Centre – GTC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง และศูนย์ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo Complex)
ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (GTC) คืออะไร ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดินนี้จะเป็นชุมทางการคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร ณ จุดเดียว ทั้งสนามบิน รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้โดยสารได้เป็นอย่างมาก คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนธันวาคม 2565 พร้อมกับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางนครหนานหนิง-ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว
หลายปีมานี้ ผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2561 ผู้โดยสารแตะ 15 ล้านคน/ครั้ง มีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศรวม 172 เส้นทาง ทำให้นครหนานหนิงจำเป็นต้องพัฒนาและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งระหว่างสนามบินกับเขตเมืองให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดินเป็นคีย์โปรเจกต์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559-2563) มีมูลค่าการลงทุน 6,646 ล้านหยวน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยยกระดับการเปิดสู่ภายนอกของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และสร้างให้นครหนานหนิงเป็นชุมทางการเดินทางไปยังภูมิภาคอาเซียน
งานก่อสร้างหลักของโครงการศูนย์การขนส่งภาคพื้นดินนครหนานหนิง ประกอบด้วย
- โครงการเตรียมงานก่อสร้าง (pre-production engineering) ในส่วนอาคารผู้โดยสาร T2 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และ T3 รวมพื้นที่ก่อสร้าง 2.6 แสน ตร.ม. และพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 3.46 แสน ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่สิ่งปลูกสร้างสำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง 5.5 หมื่น ตร.ม. รถไฟฟ้าใต้ดิน 2.6 หมื่น ตร.ม. ลานจอดรถ 2.05 แสน ตร.ม. และพื้นที่สาธารณะสำหรับการเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง 6 หมื่น ตร.ม.
- โครงการขุดเจาะอุโมงค์สำหรับรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว เพื่อเข้าสู่สนามบินโดยอุโมงค์มีความยาวราว 7 กิโลเมตร
- โครงการขุดเจาะอุโมงค์สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าสู่สนามบิน อุโมงค์มีความยาว 4.4 กิโลเมตร
- โครงการอื่นๆ ในบริเวณสนามบิน อาทิ ทางเชื่อมรันเวย์ สะพานวงแหวนต่างระดับ และสะพานข้ามแยก
เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางได้แบบไร้รอยต่อระหว่างเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง รถขนส่งมวลชน และรถแท็กซี่ ดังนั้น โครงการนี้มีนัยสำคัญไม่เพียงแค่การขยายขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นของสนามบินนครหนานหนิงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้โดยสารได้สัมผัสประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมบทบาทของสนามบินให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
การเร่งพัฒนาความเชื่อมโยงในการเดินทางแบบไร้รอยต่อระหว่างเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าใต้ดิน จะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาอย่างลงตัวระหว่างสนามบินกับเมืองและอุตสาหกรรม พร้อมช่วยผลักดันการพัฒนาของ ‘Nanning Channel’ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงและเปิดสู่ภายนอก โดยมี “นครหนานหนิง” เป็นตัวหลัก รวมทั้งช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงลึกในการพัฒนายุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI)
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 30 กิโลเมตร ถือเป็นสนามบินที่มียุทธศาสตร์ความสำคัญในภูมิภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีน โดยเฉพาะการเป็น “ฮับ” การบินสู่อาเซียน
ปี 2561 มีเส้นทางบินประจำรวม 24 เส้นทาง เพื่อไปยัง 23 เมืองสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนเที่ยวบิน จำนวนเมืองจุดหมายปลายทาง และจำนวนผู้โดยสารที่ไปยังอาเซียนล้วนอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศจีน
ปัจจุบัน สนามบินแห่งนี้กำลังสร้างศูนย์บริการ single window ในงานโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากร เพื่อสนับสนุนการเป็นด่านท่าอากาศยานเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 บริษัท Guangxi Shunfeng Express ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าแบบเที่ยวประจำเป็นครั้งแรกของกว่างซี ในเส้นทางนครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์ โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง B797-300 แบบเที่ยวบินไป-กลับ สัปดาห์ละ 5 เที่ยว
การเปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าครั้งนี้ช่วยลดวงจรโลจิสติกส์ (logistics cycle) ของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนประกอบกิจการ ยกระดับฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์ทางอากาศในภูมิภาค ช่วยดึงดูดให้ภาคธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียงส่งสินค้ามารวมไว้ที่นครหนานหนิง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้า และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศได้อีกด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 16 ตุลาคม 2562
เว็บไซต์ http://www.caac.gov.cn (中国民航局) วันที่ 18 ตุลาคม 2562
ภาพประกอบ www.pixabay.com และ www.gx.xinhuanet.com