“ลุ่มแม่น้ำซีเจียง” ตัวเลือกฐานการผลิตใหม่ของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งภาคตะวันออก
15 Mar 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : หลังรัฐบาลกลางให้การสนับสนุนบุกเบิก “เส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง” อุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกได้เคลื่อนย้ายเงินทุนสู่ภาคตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกว่างซี
แม่น้ำซีเจียง (Xi River, 西江) เป็นต้นน้ำของแม่น้ำจูเจียง (Pearl River, 珠江) มีจุดกำเนิดจากมณฑลยูนนาน ไหลพาดผ่านมณฑลกุ้ยโจวเข้าสู่เขตฯ กว่างซีจ้วง และออกสู่ทะเลที่มณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นแม่น้ำที่มีความยาวที่สุดในพื้นที่จีนตอนใต้ และเป็นทางออกสู่ทะเลของพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน
เมื่อปี 2551 กว่างซีได้นำเสนอ “ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาเส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง” และวางแผนทุ่มเงินลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมากถึง 21,500 ล้านหยวน เพื่อยกระดับศักยภาพรองรับการขนส่งให้ได้มากกว่า 106.27 ล้านตัน
เป้าหมายหลักของการพัฒนาเส้นทางน้ำดังกล่าว เพื่อสร้างให้แม่น้ำซีเจียงกลายเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของการขนส่งทางน้ำเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจสำคัญ 2 เขต คือ เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ และเขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ล
การอิ่มตัวของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก รวมถึงปัจจัยต้นทุนแรงงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมต่างๆ ได้เริ่มเคลื่อนย้ายสู่มณฑลทางภาคตะวันตก ซึ่งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำซีเจียงถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ
จากข้อมูล ลุ่มแม่น้ำซีเจียงเป็นพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่เมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市) มีวิสาหกิจเซรามิกจากเมืองฝอซานของกวางตุ้งย้ายสายการผลิตมาแล้ว 87 สายการผลิต
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งก็เริ่มทยอยเข้ามาจัดตั้งกิจการในเมืองกุ้ยก่าง นครหนานหนิง เมืองฉงจั่ว และเมืองหลิ่วโจวแล้วเช่นกัน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มูลค่า GDP ของเมืองที่แม่น้ำซีเจียงไหลพาดผ่านในกว่างซี 7 เมืองมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 11.7 เปอร์เซนต์ และมีมูลค่ารวมคิดเป็นสัดส่วนราวๆ ร้อยละ 60 ของมูลค่ารวมทั้งกว่างซี
ท่าเรือหลักในกวางซีตั้งอยู่ใน 3 หัวเมืองสำคัญ ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市)
BIC เห็นว่า ในอนาคต เมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานตลอดเส้นทางแม่น้ำซีเจียงมีความพร้อมสมบูรณ์ขึ้นแล้ว แม่น้ำซีเจียงจะเป็นตัวเลือกสำคัญของระบบขนส่งโลจิสติกส์ เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการขนส่งได้ในปริมาณมาก สิ้นเปลืองพลังงานต่ำ ต้นทุนประกอบการต่ำ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำ คือ
1) ต้นทุนการขนส่ง คิดเป็น 1/6 ของระบบราง คิดเป็น 1/28 ของทางถนน และคิดเป็น 1/78 ของทางอากาศ
2) สิ้นเปลืองพลังงาน จากนครหนานหนิง-นครกว่างโจว ระยะทาง 850 กิโลเมตร การขนส่งทุก 10 ล้านตัน แม่น้ำซีเจียงสิ้นเปลืองน้ำมันเพียง 4 หมื่นตัน ขณะที่ทางถนน และรางรถไฟต้องสิ้นเปลืองน้ำมันมากถึง 5 แสน และ 9 แสนตันตามลำดับ