รถไฟเส้นทางยวี่ซี-เมิ่งจื้อเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ
27 Feb 2013ผ่านความทุ่มเทตลอด 7 ปี ในที่สุดเส้นทางรถไฟยวี่ซี-เมิ่งจื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายตะวันออก ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2556 ถือเป็นการสิ้นสุดยุคที่มณฑลยูนนานตอนใต้ไม่มีเส้นทางรถไฟใช้งาน โดยมณฑลยูนนานจะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสายนี้เร่งความเร็วในการพัฒนามณฑลต่อไป
เส้นทางรถไฟยวี่ซี-เมิ่งจื้อ เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อเดือน ก.ย. 2548 มีระยะทางยาว 141 กม. ใช้บริการ 11 สถานี เริ่มต้นที่สถานียวี่ซีหนาน ผ่านเมืองทงไห่ เมืองเจี้ยนสุ่ย สิ้นสุดที่สถานีเมิ่งจื้อ วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. ขณะเดียวกันเส้นทางรถไฟเมิ่งจื้อ-เหอโข่ว ซึ่งเป็นส่วนต่อจากเมืองเมิ่งจื้อลงใต้ไปยังด่านเหอโข่ว ระหว่างชายแดนจีน-เวียดนาม ก็กำลังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเส้นทางรถไฟเมิ่งจื้อ-เหอโข่ว ก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำการต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟคุนหมิง-ยวี่ซี และยวี่ซี-เมิ่งจื้อ ทำให้มณฑลยูนนานกลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน เมืองยวี่ซีและเมิ้งจื้อจะกลายเป็นฮับระดับนานาชาติที่มีความสำคัญต่อไป
วิเคราะห์ เส้นทางรถไฟแพนเอเชีย ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ สายตะวันออก (จีน-เวียดนาม-กัมพูชา-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์) สายกลาง (จีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์) สายตะวันตก (จีน-พม่า-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์) และสายเหนือ (จีน-พม่า-บังกลาเทศ-อินเดีย) ซึ่งเส้นทางที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ เส้นทางสายตะวันออก ซึ่งคาดว่าภายในปี 2557 เส้นทางรถไฟช่วงภายในมณฑลยูนนาน ตั้งแต่นครคุนหมิงไปถึงด่านเหอโขวจะสามารถเปิดใช้งานได้ทั้งเส้นทาง ส่วนการจะเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟผ่านเวียดนาม กัมพูชามายังประเทศไทยนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แม้จีนกับไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามในระยะหลังมักจะมีการกระทบกระทั่งบ่อยครั้งในประเด็นการครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
ส่วนเส้นทางรถไฟที่มีความเกี่ยวข้องกับไทยโดยตรงคือ เส้นทางสายกลาง ซึ่งมีความคืบหน้าไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นช่วงภายในมณฑลยูนนานจากนครคุนหมิงไปยังด่านบ่อหาน ช่วงภายในประเทศลาว และช่วงภายในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีทางเลือกอีกหนึ่งทางคือ เส้นทาง R3A ซึ่งมีส่วนทำให้การขนส่งค้าระหว่างไทย-ยูนนานมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย. 2556 ก็จะทำให้เส้นทาง R3A มีความสมบูรณ์แบบในการถูกใช้งานในฐานะเส้นทางคมนาคมนานาชาติ ระหว่างรอการเกิดขึ้นจริงของเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายกลาง