มณฑลกวางตุ้งทุ่มเงินล้านล้านหยวนเน้นเชื่อมเมืองในเขต PRD ด้วยรถไฟความเร็วสูงภายใน 3 ปี
30 Apr 2013มณฑลกวางตุ้งเร่งผลักดันโครงการลงทุนสำคัญในช่วง 3 ปีหลังของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) กว่า 460 จากทั้งสิ้น 607 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุน 1.41 ล้านล้านหยวน โดยสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง 9 เมืองในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PRD) ภายในปี 2558
รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกว่างโจว-จูไห่
ในช่วงปี 2554-2555 หรือ 2 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มณฑลกวางตุ้งได้ลงทุนพัฒนาและสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญไปแล้ว 147 โครงการ โดยเน้นโครงการก่อสร้างทางหลวง ทางรถไฟ และท่าอากาศยาน ใช้เงินลงทุนไป 564,000 ล้านหยวน แต่คิดเป็นเพียงร้อยละ 28.6 ของเงินลงทุนทั้งหมดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
สำหรับ 3 ปีหลังของแผนพัฒนาฯ ระหว่างปี 2556-2558 นั้นมณฑลจะเร่งผลักดันโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมขนส่งทางภาคเหนือ ตะวันตก และตะวันออกของมณฑล ตลอดจนการลงทุนขนาดใหญ่ 21 โครงการและโครงการอื่น ๆ รวม 460 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1.41 ล้านล้านหยวน เป็นโครงการก่อสร้างที่ต่อเนื่องจาก 2 ปีแรกจำนวน 202 โครงการ และโครงการก่อสร้างใหม่ 285 โครงการ
การลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างทางด่วน จำนวน 69 เส้นทาง ระยะทางในการก่อสร้าง 5,464 กิโลเมตร ภายในปี 2558 มีแผนจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จ 18 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,316 กิโลเมตร
2. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ จำนวน 16 สาย ระยะทางในการก่อสร้าง 2,075 กิโลเมตร ภายในปี 2558 จะก่อสร้างแล้วเสร็จและให้บริการได้ 8 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,019 กิโลเมตร และยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง 17 เส้นทาง ระยะทางในการก่อสร้าง 777 กิโลเมตร ภายในปี 2558 จะก่อสร้างแล้วเสร็จและให้บริการได้ 6 เส้นทาง รวมระยะทาง 221 กิโลเมตร
3. โครงการก่อสร้างสนามบิน เป็นการดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องของโครงการขยายสนามบินจำนวน 2 แห่งคือ สนามบินนานาชาติเป่าอัน เมืองเซินเจิ้น และสนามบินนานาชาติไป๋หยุน นครกว่างโจว ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงและขยายสนามบินสำหรับทหารและพลเรือนที่เมืองหุ้ยโจว เสากวน และฝอซาน รวมถึงเริ่มงานเบื้องต้นสำหรับโครงการย้ายและสร้างสนามบินใหม่ของเมืองจ้านเจียง
4. โครงการก่อสร้างพัฒนาเมืองโครงการก่อสร้างทางรถไฟใต้ดินในเมือง 22 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 8 โครงการ โครงการใหม่ 14 โครงการ ภายในปี 2558 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 โครงการ รวมระยะทาง 79.6 กิโลเมตร รวมถึงโครงการปรับปรุงหมู่บ้าน โครงการถนนสีเขียว ความยาวรวม 8,770 กิโลเมตร และการปรับปรุงทัศนียภาพรอบเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง
อย่างไรก็ดี โครงการลงทุนนี้ก็ได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่า การที่มณฑลกวางตุ้งลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลอาจไม่ได้ส่งผลด้านบวกทั้งหมด เนื่องจากผลที่ตามมาคือ โครงสร้างหนี้จำนวนมหาศาลที่ตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้งในอนาคตได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยนาย Zheng Tianxiang ศาสตราจารย์ด้านการขนส่งของมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น ณ นครกว่างโจ่ว ได้กล่าวว่า “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสามารถผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังสร้างปัญหาตามมาอีกไม่น้อย แต่รัฐบาลกวางตุ้งก็ไม่มีทางเลือกอื่นในสภาวะตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของมณฑลกวางตุ้งยังอยู่ในภาวะซบเซา และการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศยังไม่สูงมากนัก รัฐบาลกวางตุ้งจำต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คเหล่านี้”
ในขณะที่นาย Ivan Chung เจ้าหน้าที่อาวุโสการประเมินเครดิตของ บริษัทMoody กลับมองว่า การใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของมณฑลกวางตุ้งยังอยู่ในวิสัยที่มณฑลกวางตุ้งสามารถบริหารจัดการได้ ตามรายงานรายรับของรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งในปีที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บรายได้ 1.47 ล้านล้านหยวน มีมูลค่า GDP 5.7 ล้านล้านหยวน การใช้จ่ายเงินในโครงการเมกกะโปรเจ็คภายในระยะเวลาสามปีแม้จะใช้เงินสูงถึง 1.41 ล้านล้านหยวน นั้น สามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน
หากสังเกตการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของมณฑลกวางตุ้งในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในด้านการพัฒนา ปรับปรุงและสร้างโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงทั่วทั้งมณฑลไปพร้อมกับการลดระยะเวลาการเดินทางและขนส่งครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและยกระดับศักยภาพในการกระจายสินค้าสู่ประชาชนกว่า 100 ล้านคนอีกด้วย
การเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายการเร่งการพัฒนาของมณฑลกวางตุ้งทางภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันตก เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจภายในมณฑลกวางตุ้ง
จัดทำโดย: น.ส.จุฑาทิพย์ ตาฬุมาศสวัสดิ์ นักศึกษาฝึกงาน คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย: นายเจตนา เหล่ารักวงศ์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว
แหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์หยางเฉิงหว่านเป้า (羊城晚报) ประจำวันที่ 8 เมษายน 2556 และหนังสือพิพม์ South China Morning Post ประจำวันที่ 25 เมษายน 2556