นครหนานหนิงเร่งเครื่องพัฒนางาน “ขนส่งแม่น้ำ” ชูจุดแข็งต้นทุนถูก
29 Nov 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : นครหนานหนิงอาศัยจุดแข็งทางกายภาพภายใต้ยุทธศาสตร์แม่น้ำซีเจียงเชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta, 珠三角) เสริมบรรยากาศการลงทุน
แม่น้ำซีเจียง (Xi River, 西江) เป็นแม่น้ำที่มีการปริมาณการขนส่งมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (รองจากแม่น้ำแยงซี) และเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เชื่อมพื้นที่ภาคตะวันตก (มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และเขตฯ กว่างซีจ้วง) กับพื้นที่เศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ล (มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า)
เมื่อเดือน พ.ย.51 ทางการกว่างซีได้เริ่มผลักดันยุทธศาสตร์การสร้าง “เส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง” (Golden Gateway – Xi River, 西江黄金水道) อันนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาให้กับนครหนานหนิงซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายดังกล่าว
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม ปี 56 ท่าเรือแม่น้ำของนครหนานหนิงมีขีดความสามารถในการรองรับงานขนส่ง (Port Capacity) สูงถึง 17 ล้านตัน ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือช่วง 10 เดือนแรกเท่ากับ 10.47 ล้านตัน
ช่วงหลายปีมานี้ นครหนานหนิงทุ่มเงินลงทุนคิดเป็นสัดส่วนรวมมากกว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนเพื่องานก่อสร้างแม่น้ำซีเจียงในเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยเฉพาะ 9 เดือนแรกของปีนี้ มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานขนส่งทางน้ำในนครหนานหนิงมากถึง 1.7 เท่าของเงินลงทุนรวมตลอดแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 11 (ระหว่างปี 2549-2553)
ปัจจุบัน เส้นทางขนส่งทางแม่น้ำในนครหนานหนิงสามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด 1,000 ตันเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการขยายศักยภาพเส้นทางเดินเรือสำหรับเรือบรรทุกขนาด 2,000 ตัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
หากโครงการแล้วเสร็จ เรือบรรทุกสินค้าขนาด 2,000 ตันจะสามารถสัญจรไปมาระหว่างนครหนานหนิงกับมณฑลกวางตุ้ง เมืองฮ่องกง และเมืองมาเก๊าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
จากข้อมูล พบว่า ศักยภาพการลำเลียงสินค้าของเรือบรรทุกสินค้า 1 ลำเทียบเท่ากับรถไฟ 1 ขบวน ส่วนค่าใช้จ่ายในการขนส่งถึงนครกว่างโจวจะลดลงจากตันละ 100 กว่าหยวน เหลือเพียงประมาณ 50 หยวน ซึ่งถูกกว่าค่าขนส่งทางถนนมากกว่าประมาณ 2/3
ทางการหนานหนิงได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (รวมถึงรัฐวิสาหกิจ) ในการเข้ามาลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือและดึงดูดวิสาหกิจเข้ามาจัดตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เลียบฝั่งแม่น้ำ อาทิ เขตปฏิบัติการท่าเรือขนส่งทางแม่น้ำของกลุ่มบริษัท Guangxi Beibu-Gulf Investment (广西北部湾投资集团有限公司) ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือและสายการผลิตของธุรกิจปูนซีเมนต์ของบริษัท Gold Carp Cement (金鲤水泥厂) ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของบริษัท Nanning Chemicals Group (南化集团) และธุรกิจน้ำตาลของบริษัท Guangxi Yongkai Sugar (广西永凯糖业有限责任公司) เป็นต้น
ปัจจุบัน มีหลายภาคธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางน้ำดังกล่าว ได้แก่ น้ำตาล กระดาษ อาหารสัตว์ ธัญพืช ปูนซีเมนต์ วัสดุไม้ และเคมีภัณฑ์
ยกตัวอย่าง บริษัท Nanning Chemicals Group (南化集团) มีการขนส่งสินค้าไปยังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการขนส่งทางถนนแล้ว ขาล่องยังสามารถขนข้าวโพดและถั่วเหลืองจากมณฑลกวางตุ้ง (ปีละกว่า 2 ล้านตัน) เพื่อเติมเต็มส่วนขาดของโรงงานอาหารสัตว์ในนครหนานหนิงได้อีก
ทิศทางการพัฒนางานขนส่งทางแม่น้ำของนครหนานหนิง มีดังนี้
หนึ่ง ส่งเสริมการเดินเรือขนส่งขนาดใหญ่และเรือขนส่งเฉพาะสินค้า นายเหยียน สือ ควาน (Yan Shi Kuan, 颜石宽) ผู้อำนวยการฝ่ายท่าเรือและเส้นทางเดินเรือนครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่า ณ เดือนตุลาคม 56 เรือบรรทุกในนครหนานหนิงมีน้ำหนักบรรทุกเรือสูงสุดที่ 3,480 ตัน เรือแต่ละลำมีน้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่ 602 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13 หากคำนวณงานขนส่งระหว่างนครหนานหนิงถึงนครกว่างโจว พบว่า ต้นทุนขนส่งลดลงจากปีก่อนเฉลี่ยร้อยละ 7 ค่าขนส่งสินค้าลดลงตันละประมาณ 3.5 หยวน
สอง ยกระดับศักยภาพท่าเทียบเรือสินค้าเฉพาะด้าน โดยเฉพาะประสิทธิภาพการขนถ่ายสินค้าประเภทเดียวให้สูงกว่าท่าเทียบเรือในอดีตอย่างน้อยละ 10 เท่า ยกตัวอย่างเช่น ท่าเทียบเรือของบริษัทปูนซีเมนต์ Gold Carp Cement (金鲤水泥厂) สามารถขนถ่ายปูนซีเมนต์ได้ 1.57 ล้านตัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าได้กว่า 10 ล้านหยวน
สาม ขยายศักยภาพรองรับการขนส่งสินค้าในท่าเรือ นายเฉิน ฟู่ เจี้ยน (Chen Fu Jian, 陈富健) รองผู้อำนวยการฝ่ายท่าเรือและเส้นทางเดินเรือนครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่า ท่าเรือของนครหนานหนิงมีศักยภาพรองรับการขนส่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเมื่อปี 53 มีเพียง 4.85 ล้านตัน ต่อมาในปี 54 เพิ่มขึ้นเป็น 7.77 ล้านตัน และปี 55 เพิ่มขึ้นเป็น 10.7 ล้านตัน ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ มีปริมาณสูงถึง 10.46 ล้านตัน (สองเท่ากว่าของปี 53)
สี่ ส่งเสริมการลงทุนของวิสาหกิจด้านการขนส่งทางน้ำและการบริการที่เกี่ยวข้อง จากข้อมูล ปัจจุบัน นครหนานหนิงมีวิสาหกิจเรือขนส่ง 52 ราย วิสาหกิจด้านท่าเรือ 31 ราย วิสาหกิจที่ให้บริการด้านงานขนส่งทางน้ำ 28 ราย
ห้า การสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยบริเวณเลียบท่าเรือแม่น้ำในพื้นที่เขตยงหนิง (Yongning Area, 邕宁区) ของนครหนานหนิง
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในเขตฯ กว่างซีจ้วง แม่น้ำซีเจียงไหลพาดผ่าน 7 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้งก่าง เมืองอู๋โจว เมืองไป่เซ่อ เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจว และเมืองฉงจั่ว รวมความยาวทั้งสิ้น 1,480 กิโลเมตร โดยเส้นทางน้ำสายหลักจากนครหนานหนิงถึงนครกว่างโจว มีความยาว 854 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 570 กิโลเมตร
ปัจจุบัน หัวเมืองท่าสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้ยก่าง และเมืองอู๋โจว สามารถรองรับเรือขนส่งขนาด 2,000 ตันได้แล้ว ส่วนในหัวเมืองท่าอันดับรองก็สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดตั้งแต่ 500 – 1,000 ตันได้แล้วเช่นกัน และมีจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
ตลอดหลายปีมานี้ นอกจากนครหนานหนิงแล้ว เมืองต่างๆ ของกว่างซีมีการพัฒนาและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานบริเวณเลียบฝั่งแม่น้ำและท่าเรือ การสร้างประตูกั้นน้ำ และการพัฒนาร่องน้ำ เพื่อยกระดับศักยภาพการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำซีเจียง
พัฒนาการดังกล่าวช่วยดึงดูดให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้าจัดตั้งกิจการบริเวณเลียบฝั่งแม่น้ำ เพื่อต้องการอาศัยจุดแข็งของการขนส่งผ่านทางแม่น้ำ คือ ประหยัดเวลา ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้า
BIC เห็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเลียบแม่น้ำซีเจียงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุน(ไทย)ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในกว่างซี โดยอาศัยความได้เปรียบจากนโยบายสนับสนุนทั้งในระดับมณฑลและระดับประเทศ
อย่างไรก็ดี นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– “ตีเหล็กตอนร้อน” เมืองอู๋โจวของกว่างซี ชูจุดขาย “แม่น้ำซีเจียง” กวักรับนักลงทุน (21 พฤศจิกายน 2556)
– งัดจุดเด่นสู้! เมืองอู๋โจวของกว่างซีหวังเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของลุ่มแม่น้ำซีเจียง (13 พฤษภาคม 2556)
– เมืองกุ้ยก่างเปิดเส้นทางขนส่งแม่น้ำสู่ฮ่องกง ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สร้างบรรยากาศการลงทุน (12 เมษายน 2556)
– “ลุ่มแม่น้ำซีเจียง” ตัวเลือกฐานการผลิตใหม่ของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งภาคตะวันออก (14 มีนาคม 2556)