นครหนานหนิงเปิดใช้ “ศูนย์โลจิสติกส์ระบบราง”ขนาดยักษ์ รองรับการเป็น Hub ขนส่งสินค้าจีน-อาเซียน-ยุโรป
22 May 2018
นครหนานหนิงเปิดใช้ “ศูนย์โลจิสติกส์ระบบรางนครหนานหนิง” ขนาดเท่าสนามฟุตบอล 520 สนาม สร้างแพลตฟอร์มรองรับระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) และพัฒนาภาคธุรกิจโลจิสติกส์จีนกับอาเซียน
ศูนย์โลจิสติกส์ระบบรางนครหนานหนิง (Nanning Railway Logistics Center/南宁铁路物流中心) ตั้งอยู่ที่เขตเจียงหนาน (Jiangnan District/江南区) นครหนานหนิงฝั่งใต้ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,347.5 ไร่ หรือเท่ากับสนามฟุตบอลมาตรฐาน 520 สนาม
ศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้จัดสรรพื้นที่ตามฟังก์ชันการใช้งาน แบ่งเป็น 12 ส่วน อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าที่มีขนาดใหญ่/ยาว/หนัก โกดังสินค้าเย็น รถยนต์ โลจิสติกส์สำหรับ e-Commerce วัสดุแผ่นไม้ และน้ำมันพืช ทั้งนี้ ในแผนงานระยะยาว คาดการณ์ว่าศูนย์โลจิสติกส์ฯ จะมีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 20 ล้านตัน
เป้าหมาย/พันธกิจสำคัญของศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้ คือ
- ให้บริการด้านงานขนส่งสินค้าเป็นหลัก และให้บริการด้านธุรกิจการค้าเป็นส่วนเสริม
- มีบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร (one stop service) อาทิ ขนส่งและกระจายสินค้า คลังสินค้า แปรรูปและบรรจุหีบห่อ คลังสินค้าทัณฑ์บน ธุรกิจการค้า ข้อมูลสารสนเทศ และ e-Commerce
- เป็นที่ตั้งของด่านรถไฟนครหนานหนิง โดยสินค้าทั่วไปสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อการนำเข้าส่งออก (ออกทะเลที่อ่าวเป่ยปู้หรือออกด่านพรมแดนที่เมืองผิงเสียง) ได้ที่ ศูนย์โลจิสติกส์ฯ
- ในอนาคตจะเพิ่มฟังก์ชันด้านสินค้าทัณฑ์บน
- เป็น “ฐานโลจิสติกส์ต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมกับระบบราง” และ “จุดรวบรวมสินค้านำเข้า-ส่งออกทางทะเลและด่านชายแดน” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน
ตามรายงาน ช่วงแรกของการเปิดให้บริการ ศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้จะเปิดใช้งานเพียง 2 ส่วน ได้แก่ (1) พื้นที่ปฏิบัติการสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ และ (2) พื้นที่ปฏิบัติการสำหรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่/ยาว/หนัก เช่น เหล็ก เครื่องจักรขนาดใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์บรรจุถุงขนาดใหญ่ (bulk bag)
พื้นที่ใช้งาน 2 ส่วนข้างต้นมีลานสินค้ารวม 70,000 ตารางเมตร มีเส้นทางราง 2 เส้น (Track) แต่ละรางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้ากับรถบรรทุกได้ 60 คันในเวลาเดียวกัน โดยรางขนส่งนี้ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 6 ล้านตัน
ศูนย์โลจิสติกส์แห่งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถงานโลจิสติกส์ของ “ชุมทาง” การขนส่งสินค้าทางรางของนครหนานหนิง เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า (Distribution) ของขบวนรถไฟขนส่งสินค้า และขยายศักยภาพงานโลจิสติกส์ในภูมิภาคอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะขบวนรถไฟขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal transport) ในโมเดล “เรือ+รถไฟ” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์ และขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศจีน-เวียดนาม
อีกทั้งยังมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาและจัดระเบียบธุรกิจโลจิสติกส์กว่างซีให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมบทบาทของกว่างซีในการเป็นจุดศูนย์รวมและกระจายสินค้าของภูมิภาค ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจ และเป็นการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ “3 บทบาทสำคัญ” [*] ที่รัฐบาลกลางมอบหมายให้กว่างซี
คำอธิบาย
[*] 3 บทบาทสำคัญ (Three Positioning/三大定位) คือ การเป็น (1) ช่องทางระหว่างประเทศในการเชื่อมสู่อาเซียน (2) ข้อต่อยุทธศาสตร์ใหม่ของการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่าง และ (3) จุดเชื่อมต่อยุทธศาสตร์ BRI
ลิงก์ข่าว
– จีนเชิญนานาประเทศร่วมพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์ (10 พ.ค. 2561)
– “เส้นทางมุ่งลงใต้จีน-สิงคโปร์” ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์พัฒนาตลาดผลไม้จีน-อาเซียน (03 พ.ค. 2561)
– เมืองผิงเสียง ชูโมเดลโลจิสติกส์ “รถ+รถไฟ” เชื่อมอาเซียน-จีน-ยุโรป (18 เม.ย. 2561)
– ท่าเรือชินโจว “ทางเลือกใหม่” ของผู้ประกอบการส่งออก (ไทย) (17 เม.ย. 2561)
– กว่างซีเดินเครื่องเต็มสูบ พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์จีน-สิงคโปร์ (16 มี.ค. 2561)
– ส่งสินค้าไปยุโรปผ่านกว่างซี ทางเลือกที่ดีของผู้ส่งออกไทย (22 ม.ค. 2561)
จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) วันที่ 14 พฤษภาคม 2561
หนังสือพิมพ์ Nanning Daily (南宁日报) วันที่ 14 พฤษภาคม 2561