ธุรกิจโลจิสติกส์จีน 9 เดือนแรกเติบโตมั่นคง เน้น 4 ปัญหาเร่งแก้ไข

5 Nov 2013

สหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อของจีน (China Federation of Logistics & Purchasing : CFLP) ได้เปิดเผยว่า 3 ไตรมาสแรกปีนี้ สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ฟื้นตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ การผลิต และการจัดซื้อ มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และผลักดันให้อุปสงค์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์มีการเติบโตอย่างมั่นคง

ตัวเลขสถิติชี้ว่า 3 ไตรมาสแรกปีนี้ จีนมีมูลค่ารวมของธุรกิจโลจิสติกส์ 145.7 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไฮไลท์ของธุรกิจโลจิสติกส์ใน 3 ไตรมาสแรก คือ สืบเนื่องจากธุรกิจ E-Commerce จีนมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด จึงส่งเสริมให้ยอดรวมโลจิสติกส์ทั้งสินค้าของบริษัทและของส่วนบุคคลเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย 3 ไตรมาสแรกปีนี้ มูลค่ารวมโลจิสติกส์สินค้าของบริษัทและส่วนบุคคลได้ขยายตัวร้อยละ 28.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน ประเภทของธุรกิจโลจิสติกส์ที่แตกต่างกันก็มีผลดำเนินการที่ไม่เหมือนกัน อาทิ 1) ปริมาณธุรกิจโลจิสติกส์ในสาขาเหล็กกล้า ถ่านหิน และปูนซีเมนต์ยังอยู่ในภาวะซบเซา ในขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไปอย่างรวดเร็ว (FMCG) มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว 2) ธุรกิจของบริษัทโลจิสติกส์ในธุรกิจของภาคเอกชนเติบโตเร็วกว่ารัฐวิสาหกิจ 3) ธุรกิจโลจิสติกส์ใหม่ อาทิ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน เวทีการจัดหาเงินทุนทางโลจิสติกส์ และธุรกิจโลจิสติกส์ในชุมชนเติบโตเร็วกว่าธุรกิจโลจิสติกส์แบบดั้งเดิม อาทิ การขนส่ง การบริการคลังสินค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี CFLP ชี้ว่า ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์จีน ยังประสบกับปัญหา 4 ประการที่ควรเร่งแก้ไข ได้แก่

1) นโยบายการปรับเปลี่ยนภาษีธุรกิจ (BT) เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้เพิ่มภาระภาษีของธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากภายใต้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทโลจิสติกส์ที่ให้บริการแก่บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถรับใบเสร็จที่สามารถนำไปหักภาษีจากบริษัทขนาดเล็กได้ และต้นทุนแรงงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทโลจิสติกส์ก็หักภาษีไม่ได้ภายใต้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ การขอเบิกเงินอุดหนุนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน

2) ความยากลำบากในการจัดหาเงินทุน โดยบริษัทโลจิสติกส์ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ต่ำและทำให้การขอเงินกู้จำนองจากธนาคารเป็นเรื่องไม่ง่าย นอกจากนั้น เงินทุนต่างๆ ที่ไหลเข้าไปพัฒนานิคมโลจิสติกส์หรือฐานคลังสินค้าในบางสถานที่เป็นเพียงกลยุทธ์ในการเพิ่มราคาที่ดิน

3) การตรวจสอบคุณสมบัติและการอนุมัติการให้ใบอนุญาตของหน่วยงานรัฐบาลมีขั้นตอนกระบวนการค่อนข้างยุ่งยาก

4) ตลาดโลจิสติกส์ยังขาดการควบคุมดูแล อาทิ บริษัทที่ผูกขาดในตลาดบางแห่งนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมจากซับพลายเออร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไป บริษัทโลจิสติกส์ต่างๆ ของจีน พยายามปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจหรือสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น บริษัท Deppon Express ได้ยกระดับการให้บริการลูกค้า บริษัท S.F. Express เริ่มทำธุรกิจจัดส่งด่วนโดยรถไฟความเร็วสูง บริษัท EMS จีนลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าใหญ่สุดในเอเชียที่นครหนานจิง และบริษัท China Commerce & Logistics International Co., Ltd. ได้เร่งพัฒนาโลจิสติกส์ในชุมชนและสร้างเวทีจัดหาเงินทุนทางโลจิสติกส์ CFLP คาดว่า ไตรมาสที่ 4 ธุรกิจโลจิสติกส์จีนจะเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป และมูลค่ารวมโลจิสติกส์น่าจะสามารถเติบโตราวร้อยละ 10 ตลอดทั้งปีนี้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน