ท่าเรือกว่อหยวน” ศูนย์กลางท่าเรือโลจิสติกส์ (Hub Port) แห่งนครฉงชิ่ง
3 May 2021เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ท่าเรือกว่อหยวนเผยตัวเลขในไตรมาสแรกของปี 2564 มีปริมาณการขนส่งสินค้าในระบบ 4.69 ล้านตัน เทียบเป็นตู้คอนเทนเนอร์ปริมาณ 97,000 TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 45
ท่าเรือกว่อหยวน เป็นท่าเรือที่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางท่าเรือโลจิสติกส์ (Hub Port) โดยการเพิ่มช่องทางโลจิสติกส์และขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ให้มากยิ่งขึ้น ในส่วนประสิทธิภาพการดำเนินงานขนส่งทางเรือและทางราง มีการพัฒนาให้ลดระยะเวลาในการดำเนินการลงร้อยละ 70 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันได้มีการเปิดเส้นทางขนส่งเส้นทางด่วนระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ – นครฉงชิ่ง และเปิดเส้นทางขนส่งสายตรงระหว่างเมือง
ต่าง ๆ รวม 272 เส้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งขึ้นร้อยละ 77.8 ท่าเรือกว่อหยวนได้ขยายเส้นทางขนส่งอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มเส้นทางขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือจากเมืองกว่างอัน-ท่าเรือกว่อหยวน จำนวน 1 รอบ และเมืองกว่างหยวนไปยังท่าเรือกว่อหยวน 3 รอบ โดยขนส่งสินค้าได้กว่า 100 TEU
เขตเศรษฐกิจใหม่เหลียงเจียง ผู้รับผิดชอบท่าเรือกว่อหยวน ได้ร่วมมือกับกรมศุลกากรท่าเรือนครฉงชิ่ง บริษัท Yuxinou (Chongqing) Logistics Co. , Ltd. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้านครฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรป ของบริษัท Yuxinou (Chongqing) Logistics มีปริมาณขนส่งสินค้าในเขตฯ สูงถึง 16,000 TEU เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า และในขณะเดียวกันการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道) ในเขตฯ มีปริมาณ 2,646 TEU แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ท่าเรือกว่อหยวน” ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจใหม่เหลียงเจียง นครฉงชิ่ง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ด้วยเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านหยวน เป็นท่าเรือศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางเรือ-ราง-บก ที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศจีน เชื่อมเส้นทางขนส่งมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีนโยบายอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ ช่วยลดเวลาในการโอนถ่ายสินค้าระหว่างช่องทางการขนส่งทางเรือ-ราง-บก ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ประกอบกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของนครฉงชิ่งซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทย อาจพิจารณาใช้โกดังสินค้าทันฑ์บนที่นครฉงชิ่งเพื่อจัดเก็บสินค้าและส่งสินค้าผ่านท่าเรือกว่อหยวน เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าเข้าสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา : เว็บไซต์ทางการของ ChongqingNew (ฉบับวันที่ 18 เม.ย 2564)
http://cq.cqnews.net/html/2021-04/18/content_51315047.html