“ด่านโหย่วอี้กว่าน” การค้าคึกคักสู่ภาวะปกติแล้ว
8 Mar 2020ไฮไลท์
- ปัจจุบัน ด่านการค้าสำคัญในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยด่านต่างๆ เริ่มทยอยเปิดทำการตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563มีปริมาณรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกด่านเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการสินค้าวัตถุดิบของโรงงานผู้ผลิตที่ได้ทยอยกลับมาทำงานเพิ่มมากขึ้น
- “ด่านโหย่วอี้กวาน” (Youyiguan Border Gate) ด่านนำเข้าผลไม้ไทยที่สำคัญ ได้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563มีปริมาณรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกด่านตามปกติตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
- ด่านโหย่วอี้กวานได้นำมาตรการยื่นสำแดงพิธีการศุลกากรล่วงหน้า ขยายเวลาทำการ เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เปิดช่องทางพิเศษ (Green Lane) และให้บริการตรวจก่อนปล่อยก่อน (First Priority) สำหรับสินค้าเกษตรสด (ผลไม้) เพื่อช่วยรักษาความสดใหม่ให้กับสินค้า
- แม้ว่าการขยายวันหยุดยาวต่อเนื่องของด่านต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน เนื่องจากตู้สินค้าต้องค้างอยู่บริเวณด่านเพื่อรอผ่านพิธีการศุลกากร ทำให้สินค้าที่เน่าเสียง่ายอย่าง “ผลไม้สด” ได้รับความเสียหาย แต่เป็นปริมาณไม่มาก เนื่องจากผู้ค้าส่วนใหญ่ได้วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าทุกปีสำหรับการนำเข้าส่งออกในช่วงตรุษจีน
ด่านการค้าสำคัญในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ทยอยเปิดด่านตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ทั้งด่านสากลทางบก ด่านการค้าชายแดน ด่านท่าเรือ หลังจากที่จำเป็นต้องขยายวันหยุดต่อเนื่องหลังเทศกาลตรุษจีนเนื่องจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) โดยก่อนเปิดด่าน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฝ่ายจีนและเวียดนามได้หารือเพื่อหามาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดร่วมกัน
หนึ่งในด่านที่ผู้ค้าไทยให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คือ “ด่านโหย่วอี้กวาน” (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เนื่องจากเป็นจุดหมายหลักของการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ประเทศจีน ด่านแห่งนี้กลับมาเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563โดยช่วงแรกของการเปิดทำการ มีปริมาณรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกเฉลี่ยเพียงวันละ 15 คัน
ทั้งนี้ สถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้นจนกระทั่งกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยปริมาณรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ800-900 คัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของโรงงานผู้ผลิตที่ได้ทยอยเปิดดำเนินการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
มาตรการสำคัญที่ด่านโหย่วอี้กวานนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก มีดังนี้
- ส่งเสริมให้ผู้นำเข้า-ส่งออกยื่นสำแดงเอกสารการดำเนินพิธีการศุลกากรล่วงหน้า และขยายเวลาทำการ เพื่อให้สินค้าสามารถป้อนเข้าสู่สายการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
- สำหรับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สด (ตรงกับช่วงแก้วมังกรเวียดนามออกสู่ตลาด)ได้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หน้างาน รวมทั้งเปิด “ช่องทางพิเศษ” (Green Lane) และให้บริการตรวจก่อนปล่อยก่อน (First Priority) เพื่อสร้างหลักประกันความสดใหม่ให้กับสินค้า
- เปิดใช้ช่องทางเดินรถขนส่งผู้โดยสารให้รถบรรทุกสินค้าที่เป็นรถเปล่าวิ่งกลับออกนอกประเทศจีน ซึ่งปกติ ด่านโหย่วอี้กวานมีการแยกช่องทางเดินรถขนส่งผู้โดยสารกับรถบรรทุกสินค้าออกจากกัน เพื่อช่วยระบายความแออัดของรถบรรทุก
ขณะที่ “ด่านการค้าชายแดน” (จุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน) ในอำเภอชายแดนของกว่างซีได้ทยอยเปิดด่านตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 จนเปิดครบทุกด่านเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากลักษณะการค้าของด่านการค้าชายแดนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็น “กองทัพมด” ดังนั้น ด่านเหล่านี้ได้นำมาตรการรวมกันยื่นสำแดงเอกสาร พัฒนาแอปพลิเคชันการยื่นสำแดงเอกสาร กรณีที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ให้วิ่งเข้า-ออกโรงงานแปรรูปในพื้นที่กำหนดได้โดยตรง เพื่อลดการรวมตัวแออัดของชาวชายแดน
ทางด้าน “ด่านทางบกตงซิง” (Dongxing Border Gate/东兴口岸)ได้เปิดทำการเป็นปกติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเปิดเคาน์เตอร์พิเศษและให้บริการตรวจก่อนปล่อยก่อนให้กับสินค้าบางรายการที่มีความจำเป็นในการนำเข้า อาทิ อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน วัตถุดิบป้อนโรงงานผลิต อาหาร และสินค้าเกษตร
แม้ว่าการขยายวันหยุดยาวต่อเนื่องของด่านต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน เนื่องจากตู้สินค้าต้องค้างอยู่บริเวณด่านเพื่อรอผ่านพิธีการศุลกากร ทำให้สินค้าที่เน่าเสียง่ายอย่าง “ผลไม้สด” ได้รับความเสียหาย แต่เป็นปริมาณไม่มาก เนื่องจากผู้ค้าส่วนใหญ่ได้วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าทุกปีสำหรับการนำเข้าส่งออกในช่วงตรุษจีน
ผลกระทบต่อการค้ากับประเทศไทยในระยะสั้น สินค้าเกษตรบางรายการ เช่น “ผลไม้สด” อาจได้รับผลกระทบ โดยผู้นำเข้าอาจลด/ยกเลิกคำสั่งซื้อ เนื่องจากไม่มั่นใจและรอดูสถานการณ์เพื่อกำหนดแผนธุรกิจ อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีการระบาดไม่ใช่ช่วงฤดูกาลผลไม้ไทยออกสู่ตลาด จึงมีปริมาณส่งออกผ่านเส้นทางทางบกไปยังด่านโหย่วอี้กวานไม่มากนัก
ขณะที่การกระจายสินค้าไทยในจีนอาจมีความล่าช้ากว่าปกติเล็กน้อย เนื่องจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งและโลจิสติกส์ต้องดำเนินมาตรการตรวจสอบและป้องกันโรคระบาดที่มีความเข้มงวดตามคำสั่งของรัฐบาล เช่น การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร การตรวจสอบวัดอุณหภูมิของพนักงานขับรถและพนักงานขนส่งสินค้าตามจุดที่กำหนด รวมถึงปัจจัยอื่น อาทิ พนักงานลูกจ้างในระบบขนส่งและโลจิสติกส์มีไม่เพียงพอ และระบบการจัดการที่เข้มงวดต่างกันตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่
ช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคได้ปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดย “การซื้อสินค้าออนไลน์” เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักของชาวจีน (รณรงค์งดออกจากบ้าน) แม้ว่าช่วงเริ่มต้นของการระบาดจะส่งผลกระทบโดยตรงกับสินค้า(ผลไม้)สดจากประเทศไทย แต่สถานการณ์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น กอปรกับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ได้กลับมาดำเนินการแล้วในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยในการเจาะตลาดลูกค้าชาวจีนผ่าน “ช่องทางออนไลน์”ทั้งนี้ หากจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว คาดว่าความต้องการบริโภคสินค้าไทยก็จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์www.chinanews.com.cn (中国新闻网)วันที่ 16, 19, 27, 28 กุมภาพันธ์ 2563 และ 1 มีนาคม 2563
เครดิตภาพ www.chinanews.com.cn