จำนวนเมืองที่เชื่อมต่อผ่านรถไฟขนส่งนานาชาตินครเฉิงตูเพิ่มขึ้นเป็น ๑๑๗ แห่ง
26 Dec 2024![](https://thaibizchina.com/wp-content/uploads/2024/12/หน้าปกข่าว-BIC-4-1024x576.jpg)
รถไฟขนส่งนานาชาตินครเฉิงตูที่บรรทุกสินค้าเคมีภัณฑ์ประเภทโพลีเอสเตอร์ชิพและรถยนต์ ได้ออกเดินทางจากสถานีเฉิงเซียง เขตชิงไป่เจียง นครเฉิงตู มุ่งหน้าออกนอกประเทศทางด่านฮอร์โกส ในซินเจียง ไปยังกรุงบิชเคก เมืองหลวงของคีร์กีซสถาน โดยมีกำหนดการเดินทางประมาณ ๑๓ วัน ส่งผลให้จำนวนเมืองต่างประเทศที่รถไฟขนส่งนานาชาตินครเฉิงตูเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นเป็น ๑๑๗ แห่ง
รถไฟขบวนนี้ใช้รูปแบบการจัดการขนส่งแบบ “ผสมระหว่างสินค้าทั้งขบวน”[๑] โดยบริษัท Sichuan HuanYu HaiMai International Trading Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าหลัก มีธุรกิจส่งออกสินค้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ และได้ลงนามในข้อตกลงการขนส่งสินค้ากับผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งในประเทศจีน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท Sichuan HuanYu HaiMai ได้แสดงความต้องการส่งออกสินค้าจำนวนมากไปยังประเทศคีร์กีซสถาน โดยตั้งสำนักงานสาขาในกรุงบิชเคก เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้าสินค้าคุณภาพจากมณฑลเสฉวนเข้าสู่ตลาดเอเชียกลาง บริษัทฯ ระบุว่ามีความต้องการใช้บริการขนส่งระหว่างประเทศจำนวน ๒-๓ ขบวนต่อเดือน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเส้นทางนำเข้า ทำให้การดำเนินงานบางส่วนได้รับผลกระทบ
เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทฯ ทางบริษัทท่าเรือขนส่ง (Port Investment Company) ได้จัดตั้งกลไกการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทผู้ให้บริการรถไฟขนส่งนานาชาติ โดยช่วยบริษัทฯ ในการขอเพิ่มเส้นทางและจัดทำแผนขนส่งหลายรูปแบบเพื่อสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ตัวแทนบริษัท HuanYu HaiMai กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยการประสานงานจากท่าเรือรถไฟนานาชาติเฉิงตูและบริษัทท่าเรือขนส่ง ทำให้การค้าของเราดำเนินไปอย่างราบรื่น รถไฟขนส่งสินค้านานาชาตินครเฉิงตูสามารถขนส่งสินค้าได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วถึงจุดหมายปลายทางภายในเวลาเพียง ๑๐ กว่าวัน ช่วยส่งเสริมให้สินค้าจากมณฑลเสฉวนออกสู่ตลาดภายนอกได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ บริษัท HuanYu HaiMai ได้ลงนามในสัญญาการค้าระหว่างประเทศระยะเวลา ๖ เดือนกับลูกค้าในต่างประเทศ และในอนาคตจะใช้เส้นทางขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป เชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างมณฑลเสฉวนกับภูมิภาคเอเชียกลางให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
โอกาสของไทยในการอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของนครเฉิงตู โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายการขนส่งที่เชื่อมโยงกับเมืองปลายทางที่หลากหลายในต่างประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า ประเทศไทยควรพิจารณาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น การลงทุนในระบบรางที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย นอกจากนี้ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดการระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการยังเป็นประเด็นสำคัญ
อีกทั้ง การจัดตั้งสำนักงานหรือตัวแทนในประเทศปลายทางเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศแบบเจาะจง ยังเป็นแนวทางที่ช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียกลางที่กำลังเติบโต การเรียนรู้จากโมเดล “การประสานงานแบบบูรณาการ” ของนครเฉิงตู จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเสริมสร้างระบบโลจิสติกส์ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสทางการค้าและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้
[๑] ขบวนรถไฟขนส่งผสมระหว่างสินค้าทั้งขบวน หมายถึงการจัดขบวนรถไฟที่บรรทุกสินค้าหลายประเภทในขบวนเดียวกัน เป้าหมายหลักของขบวนรถไฟขนส่งผสมระหว่างสินค้าทั้งขบวน คือการลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งจาก “ถนนสู่ราง” (公转铁) ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าจากระบบถนนไปสู่ระบบทางรางรถไฟ
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๗
๑. http://sc.people.com.cn/n2/2024/1203/c345167-41062344.html
๒. https://www.ln.chinanews.com.cn/news/2024/0603/27121.html
ที่มารูปภาพ:
๑. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู