จำนวนยอดเดินรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ปี ๒๕๖๗ ทะลุ ๑๐,๐๐๐ ขบวน
6 Aug 2024เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ บริษัทการรถไฟแห่งประเทศจีน รายงานว่า รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ขบวน X8017 ซึ่งบรรทุกสินค้า ๕๕ ตู้คอนเทนเนอร์ ประกอบด้วยเสื้อผ้า เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกเดินทางจากสถานีอู๋เจียซานในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และเดินทางถึงเมือง Duisburg ประเทศเยอรมนีใน ๑๓ วันต่อมา
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ สำนักข่าว People’s Daily รายงานว่า บนเส้นทาง Chengdu-Lodz และ Chongqing-Duisburg ก็ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการตามตารางเวลาเดินรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปอย่างเป็นทางการในฐานะรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปเจ้าแรกของประเทศ รถไฟบรรทุกสินค้าเส้นทางจีน-ยุโรป(เฉิงตู-ฉงชิ่ง) มีการเดินรถไฟมากกว่า ๑๕,๐๐๐ เที่ยว และบรรทุกตู้สินค้ามากกว่า ๑.๓ ล้านTEU (TEU: หน่วยนับตู้ คอนเทนเนอร์ยาว ๒๐ ฟุต) มีการนำเข้าและส่งออกสินค้านับหมื่นชนิด กลายเป็นรถไฟบรรทุกสินค้าที่มีการเดินรถไฟมากที่สุด มีมูลค่าการขนส่งสูงสุด มีโครงสร้างสินค้าที่ดีที่สุดมีความร่วมมือทางภูมิภาคกว้างขวาง และมีการขนส่งที่มั่นคงที่สุดในประเทศ
ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๗ รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป มียอดขบวนรถไฟถึง ๑๐,๐๐๐ ขบวน มีการขนส่งสินค้ารวมทั้งหมด ๑.๐๘๓ ล้านTEU (TEU: หน่วยนับตู้ คอนเทนเนอร์ยาว ๒๐ ฟุต) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑ เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี ๒๕๖๖
โดยในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๗ รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ได้ให้บริการการขนส่งใน ๓ เส้นทางหลักดังนี้ เส้นทางภาคตะวันตก (ท่าด่าน Alashankou และ Horgos) มีจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๓ เส้นทางภาคกลาง (ท่าด่าน Erenhot) มีจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐เส้นทางภาคตะวันออก (ท่าด่าน Manzhouli Suifenhe และ Tongjiangbei) มีจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๕ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และในขณะเดียวกัน รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ที่ให้บริการในเส้นทางใต้ก็ได้มีการให้บริการขนส่งสินค้าถึง ๑๑๑ ขบวน เพิ่มขึ้นถึง ๑๕ เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี
นับตั้งแต่วันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๖๗ เป็นต้นมา รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ที่ข้ามผ่านเส้นทางทะเลแคสเปียนก็ได้เปิดให้บริการการขนส่งในรูปแบบ “หนึ่งวันหนึ่งขบวน” ทำให้ในปัจจุบัน สามารถเข้าถึง ๒๒๔ เมือง ใน ๒๕ ประเทศของยุโรป และเชื่อมต่อกว่า ๑๐๐ เมืองใน ๑๑ ประเทศของเอเชียสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย
ในปัจจุบัน ประเทศจีนได้วางเส้นทางเดินรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ที่มีความเร็ว ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน ๙๑ สาย เพื่อเชื่อมต่อกับ ๖๑ เมืองในจีน และได้เพิ่มจำนวนขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจาก ๕ ขบวนต่อสัปดาห์เป็น ๑๗ ขบวนต่อสัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๖๗ เป็นต้นมา นอกจากนี้แล้ว เมืองต่าง ๆ อาทิ นครฉงชิ่ง เมืองอี้วู เมืองอู่ฮั่น และเมืองกว่างโจว ก็ได้มีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ตามตารางเวลาเดินรถไฟเป็นครั้งแรก และยังมีการจัดตั้งจุดรับและส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ใน ๑๕ ประเทศที่อยู่ตามเส้นทางการขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป จำนวน ๑๐๑ จุด เพื่อความสะดวกในการใช้และส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ของลูกค้า อีกทั้งสินค้าที่ขนส่งผ่านรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป มีทั้งหมดถึง ๕๓ ประเภท และมากกว่า ๕๐,๐๐๐ รายการ
อย่างไรก็ดี การเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปและเส้นทางการขนส่งใหม่ ๆ ทำให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อกับตลาดยุโรปและเอเชียได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดใหม่ ๆ และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน
เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากจีนและยุโรปได้มากขึ้น ประเทศไทยควรเตรียมพร้อม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาท่าเรือ รถไฟ และถนน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจในประเทศไทยมีโอกาสในการขยายตลาดและเพิ่มการขายสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการร่วมมือกับบริษัทจากจีนและยุโรปในด้านต่าง ๆ การขยายเส้นทางขนส่งอาจเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศมีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจและการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
ที่มาข้อมูล:
- เว็บไซต์ sc.people (เข้าถึงเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗)
http://sc.people.com.cn/n2/2024/0711/c345167-40908566.html
- เว็บไซต์ qbj.gov (เข้าถึงเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗)
http://www.qbj.gov.cn/qbjq/c137771/2024-07/22/content_18ef43b4f0404706af8e4ce05a4c586