ก้าวข้ามข้อจำกัด กว่างซีพัฒนางานขนส่งผ่านแม่น้ำซีเจียงไม่หวั่นแม้ฤดูน้ำแห้ง
3 Jan 2014สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : เมื่อไม่นานมานี้ กว่างซีได้ประสบความสำเร็จในการขยายศักยภาพเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ผ่านแม่น้ำซีเจียงสู่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลแล้ว จากการเปิดเผยของกรมบริหารงานท่าเรือและเส้นทางเดินเรือเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Port and Waterway Administration, 广西港航管理局)
แม่น้ำซีเจียง (Xi River, 西江) ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เส้นทางน้ำสายทองคำ” (Golden Waterway) เป็นแม่น้ำที่ใช้ในการขนส่งสายสำคัญอันดับ 2 ของประเทศ (รองจากแม่น้ำแยงซีเกียง) ไหลออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลที่มณฑลกวางตุ้ง จึงนับเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันตก
ในเขตฯ กว่างซีจ้วง แม่น้ำสายนี้ไหลพาดผ่าน 7 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้งก่าง เมืองอู๋โจว เมืองไป่เซ่อ เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจว และเมืองฉงจั่ว รวมความยาวทั้งสิ้น 1,480 กิโลเมตร (เส้นทางน้ำสายหลักจากนครหนานหนิงถึงนครกว่างโจว มีความยาว 854 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 570 กิโลเมตร)
ท่าเรือหลักในกว่างซีตั้งอยู่ใน 3 หัวเมือง ได้แก่ นครหนานหนิงสู่เมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市)
ทางการกว่างซีมีนโยบายด้านการส่งเสริมและฟื้นฟูการขนส่งทางแม่น้ำ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มบทบาทการขนส่งทางแม่น้ำ และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ๆ แบบหลายมิติ
ปี 2551 กว่างซีได้นำเสนอ “ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาเส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง” และวางแผนทุ่มเงินลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมากถึง 21,500 ล้านหยวน เพื่อยกระดับศักยภาพรองรับการขนส่งให้ได้มากกว่า 106.27 ล้านตัน
โครงการก่อสร้างปรับปรุงและขยายศักยภาพเส้นทางเดินเรือระดับ 2[*] จากนครหนานหนิงถึงเมืองกุ้ยก่างเพิ่้งดำเนินการแล้วเสร็จ หลังจากที่ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือระดับ 2 ระหว่างเมืองกุ้ยก่างกับเมืองอู๋โจวมาแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.52
ซึ่งหมายความว่า เรือสินค้าขนาดระวาง 2,000 ตันสามารถวิ่งสัญจรระหว่างนครหนานหนิงตรงสู่มณฑลกวางตุ้ง เมืองฮ่องกง และเมืองมาเก๊า “แบบไร้อุปสรรค” ได้ตลอดทั้งเส้นทางแล้ว
การพัฒนาและยกระดับศักยภาพเส้นทางเดินเรือจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 สามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้อย่างมาก
จากการคำนวณเบื้องต้น การขนส่งระหว่างนครหนานหนิงกับเมืองกุ้ยก่างสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้ราว ๆ 45 ล้านหยวนต่อปี ขณะที่การขนส่งระหว่างเมืองกุ้ยก่างกับเมืองอู๋โจวสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้ปีละ 130 ล้านหยวน
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำ คือ
1) ต้นทุนการขนส่ง คิดเป็น 1/6 ของระบบราง คิดเป็น 1/28 ของทางถนน และคิดเป็น 1/78 ของทางอากาศ
2) สิ้นเปลืองพลังงาน จากนครหนานหนิง-นครกว่างโจว ระยะทาง 850 กิโลเมตร การขนส่งทุก 10 ล้านตัน แม่น้ำซีเจียงสิ้นเปลืองน้ำมันเพียง 4 หมื่นตัน ขณะที่ทางถนน และรางรถไฟต้องสิ้นเปลืองน้ำมันมากถึง 5 แสน และ 9 แสนตันตามลำดับ
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การพัฒนาและยกระดับศักยภาพงานขนส่งของแม่น้ำซีเจียงช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำสายดังกล่าวไหลพาดผ่าน โดยเฉพาะนครหนานหนิง เมืองกุ้ยก่าง และเมืองอู๋โจว
เมืองต่าง ๆ ข้างต้นได้อาศัยจุดแข็งดังกล่าวจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเลียบฝั่งแม่น้ำ สร้างท่าเทียบเรือขนส่ง พร้อมดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของแต่ละเมือง
คำอธิบายเพิ่มเติม
[*] ประเทศจีน มีเกณฑ์การแบ่งระดับเส้นทางเดินเรือผ่านแม่น้ำ ออกเป็น 7 ระดับ
ระดับ 3 สามารถรองรับเรือขนาด 1,000 ตัน น้ำมีความลึก 2.0-2.4 เมตร ความกว้างของเส้นทางเดินเรือเส้นทางเดี่ยว 30-55 เมตร รัศมีความโค้งของคุ้งน้ำ 480-720 เมตร บริเวณที่มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคการเดินเรือน้ำมีความลึก 3.2 เมตร ความกว้างของเส้นทางเดินเรือคู่ช่วงเส้นทางตรง 45 เมตร รัศมีความโค้งของคุ้งน้ำ 480 เมตร
ระดับ 2 สามารถรองรับเรือขนาด 2,000 ตัน น้ำมีความลึก 2.6-3.0 เมตร ความกว้างของเส้นทางเดินเรือเส้นทางเดี่ยว 33-55 เมตร รัศมีความโค้งของคุ้งน้ำ 480-720 เมตร บริเวณที่มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคการเดินเรือน้ำมีความลึก 4 เมตร ความกว้างของเส้นทางเดินเรือคู่ช่วงเส้นทางตรง 60 เมตร รัศมีความโค้งของคุ้งน้ำ 540 เมตร
ระดับ 1 สามารถรองรับเรือขนาด 3,000 ตัน น้ำมีความลึก 3.5-4.0 เมตร ความกว้างของเส้นทางเดี่ยวช่วงเส้นทางตรง 70-125 เมตร รัศมีความโค้งของคุ้งน้ำ 670-1,200 เมตร
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– นครหนานหนิงเร่งเครื่องพัฒนางาน “ขนส่งแม่น้ำ” ชูจุดแข็งต้นทุนถูก (28 พ.ย. 2556)
– น้องๆ ทะเล! ยุทธศาสตร์ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำซีเจียง ทางการกว่างซีเตรียมดันขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ (03 มิ.ย. 2556)
– งัดจุดเด่นสู้! เมืองอู๋โจวของกว่างซีหวังเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของลุ่มแม่น้ำซีเจียง (13 พ.ค. 2556)
– เมืองกุ้ยก่างเปิดเส้นทางขนส่งแม่น้ำสู่ฮ่องกง ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สร้างบรรยากาศการลงทุน (12 เม.ย. 2556)
– “ลุ่มแม่น้ำซีเจียง” ตัวเลือกฐานการผลิตใหม่ของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งภาคตะวันออก (14 มี.ค. 2556)