กว่างซี-เวียดนาม เตรียมลุยเชื่อมถนน รถไฟ และเปิดด่านสากลเพิ่ม ประโยชน์ที่ “สินค้าไทย” ก็ได้เอี่ยว

13 Mar 2024

ดูมีความชัดเจนมากขึ้นทุกขณะ สำหรับ ‘ภารกิจที่เป็นไปได้’ หรือ Mission Possible ของปฏิบัติการ “มุ่งสู่อาเซียน” ที่รัฐบาลกลางมอบหมายให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของกว่างซีที่มีแนวพรมแดนติดต่อกับชาติสมาชิกอาเซียน (เวียดนาม) ทั้งทางบกและทางทะเล ขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของจีน (กว่างซี) กล่าวได้ว่า “เวียดนาม” เป็นเป้าหมายสำคัญในการกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวตะเข็บชายแดน และเพื่อให้การขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลท้องถิ่นเขตฯ กว่างซีจ้วงกับ 4 จังหวัดของเวียดนาม ได้สร้างกลไกการประชุมคณะทำงานร่วม (Joint Working Committee) ซึ่งทั้งสองฝ่ายผลัดกันเป็นเจ้าภาพทุกปี

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายหลิว หนิง (Liu Ning/刘宁) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ประชุมกับเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามของ 4 จังหวัดชายแดน ได้แก่ จังหวัดฮาซาง (Hà Giang) จังหวัดกว๋างนิญ (Quảng Ninh) จังหวัดลางเซิน (Lạng Sơn) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bằng) เป็นครั้งที่ 15 ที่เมืองเป๋ยไห่ของ เขตฯ กว่างซีจ้วง

ในที่ประชุมฯ สองฝ่ายได้หารือและบรรลุฉันทามติ 12 ด้าน บีไอซี จึงขอหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศไทย อาจได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาความเชื่อมโยง (Connectivity) ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Hardware) การเชื่อมโยงข้อมูล (Software) และการเปิดด่านสากล ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มพูนการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ทางราง การเร่งศึกษาวิจัยโครงการพัฒนารางรถไฟขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) ในเส้นทางกรุงฮานอย – ด่งดัง (จ.ลางเซิน) ช่วยให้การเชื่อมต่อเข้าสู่ด่านโหย่วอี้กวาน (กว่างซี) โดยไม่ต้องเปลี่ยนหัวรถจักร/ขบวนรถ (เวียดนามใช้รางกว้าง 1 เมตร จีนใช้รางมาตรฐานที่มีขนาด 1.435 เมตร)

การเลือกสถานที่ตั้งในการก่อสร้าง “ด่านรถไฟตงซิง (กว่างซี จีน) – ด่านรถไฟม่องก๋าย (กวางนิงห์ เวียดนาม)” เพื่อกรุยทางสำหรับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-เวียดนามในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงฝั่งจีนสามารถวิ่งไปถึงเมืองชายแดนตงซิงแล้ว ขณะที่ฝั่งเวียดนาม เมื่อปลายปี 2566 รัฐบาลกวางนิงห์ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมเวียดนามเพื่อเพิ่มโครงการทางรถไฟที่เชื่อมต่อเมืองไฮฟอง – เมืองฮาลอง – เมืองม่องก๋าย (ขนส่งสินค้าและโดยสาร) เข้าไปในรายชื่อโครงการที่การรถไฟเวียดนามจะดำเนินการ

ทั้งนี้ หากทางรถไฟตงซิง – ม่องก๋าย ได้สร้างขึ้นสำเร็จ จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟแห่งที่ 3 ระหว่างจีนกับเวียดนาม ต่อจากเส้นทางรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) – ด่งดัง – ฮานอย และเส้นทางรถไฟเหอโข่ว (ยูนนาน) – ลาวก่าย

นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลเที่ยวขบวนรถไฟและใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ของเส้นทางรถไฟผิงเสียง (เมืองฉงจั่ว) – ด่งดัง (จังหวัดลางเซิน) และร่วมกันจัดเที่ยวขบวนขนส่งสินค้าด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการขนส่งทางรางข้ามแดนระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งทางรถไฟของสองฝ่าย เพื่อเพิ่มกำลังการขนส่งสินค้าระหว่างจีน-เวียดนาม และประเทศที่สามด้วย

ทางถนน การผลักดันความคืบหน้าในการก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน (Expressway) ที่วิ่งไปยังด่านชายแดนสำคัญทางตอนเหนือของเวียดนาม ทั้งด่านหูหงิ (จ.ลางเซิน ตรงข้ามด่านโหย่วอี้กวาน) ด่านต่าลุง (จ.กาวบั่ง ตรงข้ามด่านสุยโข่ว) และด่านจ่าลิงห์ (จ.กาวบั่ง ตรงข้ามด่านหลงปัง)

โดยทางด่วนสายด่งดัง (จ.ลางเซิน) – จ่าลิงห์ (จ.กาวบั่ง) ระยะทาง 93 กิโลเมตร ได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 และคาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2569 ซึ่งหลังจากเส้นทางดังกล่าวได้เปิดใช้งานแล้ว จะช่วยระบายความแออัดของด่านโหย่วอี้กวาน ทำให้ด่านสุยโข่วและด่านหลงปังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งออกสินค้าไปยังเขตฯ กว่างซีจ้วง

ที่มา https://hanoimoi.vn

ด่านการค้า การเร่งผลักดันกระบวนการขออนุมัติเปิดใช้งานช่องทางสะพานแห่งที่ 2 ของด่านสุยโข่ว(จีน) และด่านต่าลุง(เวียดนาม) ปัจจุบัน ด่านสุยโข่วอยู่ระหว่างขอรับการตรวจรับจากส่วนกลางอยู่ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2567

การเร่งขยายช่องทางเดินรถระหว่างด่านโหย่วอี้กวาน(จีน)และด่านหูหงิ(เวียดนาม) อีก 2 ช่องจราจร โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งสองด่านได้เริ่มงานขุดภูเขาและปรับระดับผิวหน้าดินแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้ด่านทั้งสองมีช่องทางเดินรถเพิ่มจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร และในอนาคตมีแผนจะขยายช่องทางเดินรถเป็น 14 ช่องจราจร

นอกจากนี้ ยังมีการเร่งผลักดันการยกระดับให้ด่านอ้ายเตี้ยน (Aidian Border Gate/爱店口岸) ในเมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง กับด่านชีมา (Chi Ma Border Gate) จังหวัดลางเซิน ซึ่งปัจจุบัน มีสถานะเป็นด่านสากลทวิภาคี ด่านสากลระหว่างประเทศสำหรับการเข้า-ออกของสินค้า ยานพาหนะ และผู้โดยสารของประเทศที่สามได้ด้วย และการเปิดด่านสากลระดับทวิภาคีและช่องทางเดินรถขนส่งสินค้าข้ามแดนที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง อาทิ ด่านตงจง (峒中) – ด่านหว้าโม (Hoành Mô) และช่องทางเดินรถขนส่งสินค้าด่านผู่จ้าย (浦寨) –  แทนทันห์ (Tân Thanh) / น่งหยาว (弄尧) – ก๊กนัม (Cốc Nam)

การเพิ่มวันให้บริการของด่านทางบกตงซิง เขตฯ กว่างซีจ้วง กับด่านม่องก๋าย จ.กวางนิญ (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนเหอ แห่งที่ 2) ในวันเสาร์-อาทิตย์และในช่วงเทศกาล และการก่อสร้างด่านทางบกอัจฉริยะจีน-เวียดนาม (Smart Port) โดยปัจจุบัน ด่านโหย่วอี้กวาน (กว่างซี) ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว และด่านหลงปัง – ด่านจ่าลิงห์ ได้นำระบบอัจฉริยะมาทดลองใช้บางส่วนแล้ว (อาทิ รถบรรทุกตู้สินค้าไร้คนขับบริเวณพื้นที่กันชน และระบบบริหารจัดการด่านผ่านห้องควบคุมกลาง)

การค้าการลงทุน การพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมการแปรรูปเชิงลึกชายแดนเมืองตงซิงกับนิคมอุตสาหกรรมม่องก๋ายเป็นต้นแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมข้ามพรมแดนจีน-เวียดนาม และการสร้างเขตความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนจีน(ผิงเสียง) – เวียดนาม (แวนลาง/Văn Lang)

การผลักดันการขอเปิดตลาด(Market Access) สินค้าเกษตรให้กับเวียดนาม อาทิ ผลไม้ตระกูลส้ม มะพร้าว น้อยหน่า น้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (อาทิ ปลาทะเล และแมงกะพรุน) และการสร้างตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร (ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลไม้) ในพื้นที่ชายแดนกว่างซี-เวียดนาม การกระชับความร่วมมือด้านธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (เงินหยวนกับเงินดอง) ทั้งการลดขั้นตอนและค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ สถานะข้อมูลบนเว็บไซต์ศุลกากรแห่งชาติจีน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุว่า เวียดนามมีผลไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกเข้าประเทศจีน จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ มะม่วง  ลำไย กล้วย ลิ้นจี่ แตงโม เงาะ ขนุน แก้วมังกร มังคุด ทุเรียน และเสาวรส (อนุญาตให้ทดลองนำเข้าเสาวรสเพื่อการแปรรูปในพื้นที่ชายแดนของเขตฯ กว่างซีจ้วงเท่านั้น)


ความเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นการดำเนินการตามผลการเดินทางเยือนประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2566 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ระหว่างจีนกับเวียดนาม และตามด้วยการลงพื้นที่ตรวจดูงานที่เขตฯ กว่างซีจ้วง ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2566 ซึ่งประธานาธิบดีสีฯ ได้เน้นย้ำให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเร่งผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และขยายการเปิดกว้างสู่ภายนอกอย่างต่อเนื่อง

บีไอซี เห็นว่า หากเรามองในภาพกว้างการส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดและรอบด้านระหว่างจีน (กว่างซี) กับเวียดนาม จะนำมาซึ่งโอกาสด้านการฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน โดยจะช่วยเติมเต็มการสร้างความเชื่อมโยงที่ขาดหาย (Missing Links) ในอนุภูมิภาค เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและบริการแก่ผู้ประกอบการจีนและอาเซียน รวมถึงผู้ประกอบการไทย ในอนาคตเมื่อการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่บริเวณด่านแล้วเสร็จ ผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีน (ผ่านกว่างซี) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่ง บีไอซี จะติดตามพัฒนาการความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และรายงานข้อมูลให้ผู้ประกอบการไทยทราบอย่างต่อเนื่อง



จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  Wechat Official Account – Guangxi News by Guangxi TV (广西新闻频道) วันที่ 1 มีนาคม 2567
เว็บไซต์ www.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
ภาพประกอบ https://hanoimoi.vn

รถไฟด่านสากลทางด่วน

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน