กว่างซีเปิดใช้ “ทางหลวงพิเศษ(ตงซิง)” เชื่อมชายแดนเวียดนามอีกสาย
26 Dec 2013หนังสือพิมพ์ Southland Morning: “ทางหลวงพิเศษฝางตง” (เมืองฝางเฉิงก่าง-อำเภอระดับเมืองตงซิง) จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมทัพงานขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของกว่างซี กับอาเซียน (เวียดนาม)
อำเภอระดับเมืองตงซิง (Dongxing City, 东兴市) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซี ตั้งอยู่ติดอำเภอ Mong Cai จังหวัด Quang Ninh ของประเทศเวียดนาม เป็นที่ตั้งของ “ด่านตงซิง” (Dongxing Border, 东兴口岸) หนึ่งในด่านพรมแดนทางบก (ด่านสากล) ของกว่างซี (เช่นเดียวกับด่านโหย่วอี้กวานของอำเภอระดับเมืองผิงเสียง)
รัฐบาลกลางได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้เป็นพื้นที่นำร่องการเปิดสู่ภายนอก (สู่อาเซียน) จึงกล่าวได้ว่าเมืองตงซิงเป็นอีกหนึ่งเมืองของกว่างซีที่่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยว (กับประเทศเวียดนาม)
ทางหลวงพิเศษดังกล่าวมีบริษัท Guangxi Beibu-Gulf Investment Group (广西北部湾投资集团有限公司) เป็นผู้ลงทุน ใช้เงินลงทุนรวม 2,500 ล้านหยวน ทางสายหลักมีความยาวทั้งสิ้น 55.18 กิโลเมตร (ถนนราดยางขนาด 8 ช่องจราจร) จำกัดความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนแห่งที่ 2 (Beilun River, 北仑河) ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำจีน-เวียดนาม ซึ่งภายหลังการเชื่อมต่อแล้วเสร็จจะช่วยให้การสัญจรผ่านด่านพรมแดนของทั้งสองประเทศมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
พ่อค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรายหนึ่งในเมืองฝางเฉิงก่าง ให้ข้อมูลว่า การเปิดใช้ทางหลวงพิเศษสายนี้ช่วยร่นระยะเวลาขนส่งสินค้าลงได้อย่างมาก และช่วยให้สินค้าสัตว์น้ำคงความสดใหม่
งานขนส่งโดยใช้ทางหลวงพิเศษสายนี้จากนครหนานหนิงตรงสู่เมืองตงซิงสามารถประหยัดเวลาเดินทางลงได้ 40 นาทีเมื่อเปรียบเทียบกับการสัญจรในเส้นทางเดิม
อีกทั้ง ป้ายบอกทางยังมีความเป็นสากล (กำกับภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาเวียดนาม) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรในเส้นทางดังกล่าว
ทั้งนี้ คาดหมายว่า การเปิดใช้ทางหลวงพิเศษฝางตงจะช่วยเสริมศักยภาพงานขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของตงซิง (รวมถึงกว่างซี) ได้อีกมาก รวมทั้งจะทวีบทบาทความสำคัญในการช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ทางหลวงสายนี้มีข้อด้อยในเรื่องค่าผ่านทางที่ค่อนข้างสูง โดยรถประเภทหนึ่ง (รถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน และรถผู้โดยสารไม่เกิน 7 ที่นั่ง) เก็บในอัตรา 0.6 หยวนต่อกิโลเมตร (สูงกว่าทางหลวงพิเศษเส้นทางอื่นในมณฑล 0.2 หยวนต่อกิโลเมตร)
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีเส้นทางขนส่งฯ ระหว่างกว่างซีกับเวียดนามที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 28 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางขนส่งผู้โดยสาร 15 เส้นทาง และเส้นทางขนส่งสินค้า 13 เส้นทาง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา จีนและเวียดนามได้มีการตกลงเปิดใช้เส้นทางขนส่งทางบกโดยตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point / Door to Door สำหรับสินค้าและผู้โดยสารในเส้นทาง “นครหนานหนิง (ผ่านอำเภอระดับเมืองตงซิง) – ไฮฟอง” นับเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศเส้นทางใหม่ล่าสุดของกว่างซีกับเวียดนาม
ในแง่ของการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายรถสินค้าบริเวณพรมแดนอีกต่อไป ซึ่งไม่เพียงสามารถประหยัดเวลา อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าขนถ่ายสินค้า ค่าเช่ารถสินค้า และค่าใช้จ่ายในการผ่านพิธีการศุลกากร