กว่างซีอัดงบลงทุนพัฒนางานขนส่ง “แม่น้ำซีเจียง” หวังรัฐบาลกลางอ้าแขนรับเป็น “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ”

17 Feb 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีมีนโยบายด้านการส่งเสริมและฟื้นฟูการขนส่งทางแม่น้ำ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มบทบาทการขนส่งทางแม่น้ำ และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ๆ แบบหลายมิติ

แม่น้ำซีเจียง  (Xi River, 西江) เป็นแม่น้ำที่ใช้ในการขนส่งสายสำคัญอันดับ 2 ของประเทศ (รองจากแม่น้ำแยงซีเกียง) ไหลออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลที่มณฑลกวางตุ้ง จึงนับเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันตก

ในเขตฯ กว่างซีจ้วง แม่น้ำสายนี้ไหลพาดผ่าน 7 เมือง[*] รวมความยาวทั้งสิ้น 1,480 กิโลเมตร (เส้นทางน้ำสายหลักจากนครหนานหนิงถึงนครกว่างโจว มีความยาว 854 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 570 กิโลเมตร)

ท่าเรือ ฮับ ใน 3 หัวเมืองสำคัญของกว่างซี คือ นครหนานหนิง เมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市)

ช่วงหลายปีมานี้ ทางการกว่างซีได้จัดสรรเงินงบประมาณมูลค่ามหาศาล เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับขีดความสามารถในการขนส่งผ่านแม่น้ำซีเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วง รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

ปี 57 กว่างซีวางแผนทุ่มเงินลงทุน 4-5 พันล้านหยวน เพื่อขยายศักยภาพงานขนส่งของท่าเรือบนแม่น้ำซีเจียงอีก 25 ล้านตัน จากการเปิดเผยของสำนักงานกลุ่มผู้นำก่อสร้างเส้นทางน้ำสายทองคำแม่น้ำซีเจียงเขตฯ กว่างซีจ้วง (Office of the Leading Group for Xi River Golden Waterway Construction of Guangxi, 广西西江黄金水道建设领导小组办公室)

เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาเส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง มีดังนี้

หนึ่ง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบงานขนส่งทางแม่น้ำในหัวเมืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านทางแม่น้ำ อาทิ การขยายและเพิ่มร่องน้ำเดินเรือ (โดยเฉพาะสำหรับเรือที่มีขนาดระวางบรรทุกได้มาก) การสร้างประตูเรือสัญจร (Ship Lock) รวมถึงการสร้างและขยายท่าเทียบเรือ

สอง การพัฒนากลไกความร่วมมือและงานบริการสมัยใหม่ อาทิ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศ การเชื่อมโยงระบบงานขนส่ง (ถนนและรางรถไฟกับท่าเรือ) ระบบเติมก๊าซและน้ำมันบนแม่น้ำ (โดยเรือไม่ต้องเข้าเทียบท่า) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาแม่น้ำซีเจียงในระยะยาว

สาม การพัฒนางานศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อยก พื้นที่แถบเศรษฐกิจแม่น้ำจูเจียง(แม่น้ำเพิร์ล)-แม่น้ำซีเจียง ขึ้นเป็น ยุทธศาสตร์แห่งชาติ (เนื่องจากจะได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลกลางทั้งในแง่นโยบายและงบประมาณ) รวมถึงการวางแผนงานก่อสร้างและพัฒนาเส้นทางน้ำแม่น้ำซีเจียง 5 ปี ฉบับที่ 13 (ระหว่างปี 2559-2563) ไว้ล่วงหน้า

สี่ การสร้าง พื้นที่แถบเศรษฐกิจแม่น้ำจูเจียง(แม่น้ำเพิร์ล)-แม่น้ำซีเจียง มีบทบาทความสำคัญในระดับประเทศ อาทิ การเป็นเขตสาธิตการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตก การเป็นเขตพื้นที่เปิดสู่เมืองฮ่องกงมาเก๊าและอาเซียน การเป็นเขตนำร่องการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการสมัยใหม่ของประเทศ

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่เลียบแม่น้ำซีเจียงมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเลียบแม่น้ำ สร้างท่าเทียบเรือขนส่ง พร้อมดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของแต่ละเมือง

ปัจจุบัน ธุรกิจที่มีการใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์) สินแร่ ถ่านหิน ธัญพืช (ข้าวเปลือก) เหล็กกล้า ปุ๋ย น้ำตาล และปิโตรเคมี

เนื่องจากการขนส่งทางแม่น้ำมีจุดแข็งทั้งในด้านต้นทุนการขนส่ง ซึ่งคิดเป็น 1/6 ของระบบราง คิดเป็น 1/28 ของทางถนน คิดเป็น 1/78 ของทางอากาศ และด้านปริมาณการขนส่ง ที่สามารถบรรทุกได้ในปริมาณมาก

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ได้โม้!! งานขนส่งผ่าน แม่น้ำซีเจียงเท่ารถไฟ 12 สาย (09 ม.ค. 2557)

ก้าวข้ามข้อจำกัด กว่างซีพัฒนางานขนส่งผ่านแม่น้ำซีเจียงไม่หวั่นแม้ฤดูน้ำแห้ง (02 ม.ค. 2557)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน