กว่างซีปั้นโมเดลขนส่งสินค้าทาง ‘รถไฟ’ ติดลมบน
17 Jun 2022กล่าวได้ว่า “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่มีบททบาทเป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญบนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ระเบียงการค้า ILSTC มี “ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ + ระบบการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย” เป็นหัวใจสำคัญ โดยสินค้าจะถูกลำเลียงผ่านโครงข่ายเส้นทาง ‘รถไฟ’ ทั้งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าที่จะส่งออกไปต่างประเทศ
การขนส่งสินค้าทาง ‘รถไฟ’ ในเขตฯ กว่างซีจ้วงภายใต้ระเบียงการค้า ILSTC สามารถจำแนกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ
(1) การขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” ซึ่งมี “ท่าเรือชินโจว” ในเมืองชินโจวของกว่างซีเป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญ ภายในบริเวณท่าเรือชินโจวเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟชินโจวตะวันออก ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใช้สำหรับการขนส่งตู้สินค้า ในส่วนของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเรือสินค้าเทียบท่า เครนยกตู้สินค้าจะถ่ายสินค้าลงจากเรือ และลากไปขึ้นโบกี้รถไฟ เพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่ตอนใน (โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง และนครเฉิงตู)
ปัจจุบัน โมเดลการขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าที่มีความหลากหลายรวมกว่า 600 ประเภท และปริมาณการขนส่งมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด ปี 2560 เป็นปีแรกที่เริ่มให้บริการการขนส่งในรูปแบบดังกล่าว จนถึงปี 2564 พบว่า ปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เติบโตสูงถึง 186 เท่า คิดเป็นจำนวนตู้สินค้าสะสม 1.322 ล้าน TEUs และช่วงระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2565 การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าในโมเดลดังกล่าวมีปริมาณสะสม 3.1 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 37.7% (YoY)
(2) การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ซึ่งมี “ด่านรถไฟผิงเสียง” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของกว่างซีเป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญ จากข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2565 มีขบวนรถไฟจีน-เวียดนามวิ่งให้บริการแล้ว 140 เที่ยว เพิ่มขึ้น 20.7% (YoY) คิดเป็นจำนวนตู้สินค้าสะสม 4,176 TEUs เพิ่มขึ้น 26.5% (YoY)
ปัจจุบัน สินค้าที่ลำเลียงด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน(กว่างซี)-เวียดนามมีมากกว่า 200 ประเภท สินค้าส่งออกไปเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เครื่องจักร ปุ๋ยเคมี เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้านำเข้า หลักๆ ได้แก่ ผลไม้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม พืชสมุนไพรจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง (cold chain) มีปริมาณเกือบ 30,000 ตัน เพิ่มขึ้น 107.2% (YoY)
การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน(กว่างซี)-เวียดนามได้รับความนิยมจากผู้ค้ามากขึ้น เนื่องจากพิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกรวดเร็ว เมื่อก่อนสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกด้วยขบวนรถไฟแม้ว่าจะดำเนินพิธีการศุลกากร ณ ด่านต้นทางแล้ว แต่เมื่อขบวนรถไฟมาถึงที่ด่านรถไฟผิงเสียง จำเป็นต้องหยุดรอเพื่อดำเนินขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอกสาร (customs transfer) เสียก่อนจึงจะสามารถส่งออกไปได้ ซึ่งต้องเสียเวลา 1-2 วัน แต่ปัจจุบัน ศุลกากรได้นำระบบการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับรถไฟ (railway cargo manifest) มาใช้ตรวจสอบเอกสารและตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกความรวดเร็วให้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก
นอกจากด่านสถานีรถไฟผิงเสียงที่เริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว ในเขตฯ กว่างซีจ้วงยังมี “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) เป็นอีกช่องทางในการทำการค้ากับต่างประเทศผ่านเส้นทางรถไฟแบบ Direct Route “นครหนานหนิง-กรุงฮานอย” โดยท่าสถานีแห่งนี้ได้เริ่มให้บริการด้านพิธีการศุลกากรสินค้าขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564
ตามรายงาน เขตปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบทางศุลกากรในท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง มีเนื้อที่ราว 70.4 ไร่ ประตูไม้กั้น 12 ช่องจราจร (เข้า 6 ช่องทาง และออก 6 ช่องทาง) ลานตรวจสินค้ามีช่องรถบรรทุก 30 ช่องทาง มีอาคารโดมอเนกประสงค์ 3,060 ตร.ม. มีพื้นที่ลานตู้สินค้าและโกดังอุปกรณ์ตรวจกักกันโรค โดยได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 6 แสน TEUs และมีศักยภาพในตรวจสอบสินค้าได้ปีละ 65,000 ตู้
ตลอด 1 ปีที่ท่ารถไฟแห่งนี้เปิดให้มีการดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออกสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้ มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศวิ่งให้บริการรวม 375 เที่ยว เพิ่มขึ้น 2.41 เท่า (YoY) คิดเป็นจำนวนตู้สินค้า 11,806 TEUs เพิ่มขึ้น 2.92 เท่า (YoY) มีตู้สินค้าเฉลี่ยเดือนละ 500 TEUs (เพิ่มขึ้นเกือบ 14 เท่าจากเดือนแรกที่เริ่มเปิดดำเนินการนำเข้า-ส่งออกสินค้า) สินค้าส่วนใหญ่ อาทิ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า วัตถุดิบที่ใช้งานอุตสาหกรรม สิ่งทอ รวมถึงสินค้าเกษตรบางประเภท
ในภาพรวม เส้นทางรถไฟนครหนานหนิง-กรุงฮานอยช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งได้มากกว่า 60% และช่วยแบ่งเบางานตรวจปล่อยสินค้าของด่านรถไฟผิงเสียงได้อีกด้วย จึงช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ค้าในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนในการทำการค้ากับอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยจุดเด่นข้างต้น ได้ดึงดูดให้ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกจากต่างมณฑลมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดย TOP10 ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ใช้เส้นทางรถไฟดังกล่าว มี 8 รายเป็นผู้ค้าจากต่างมณฑล
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ภาครัฐกำลังเร่งส่งเสริมการขนส่งด้วย “ระบบราง” ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ทั้งในด้านประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานการต่างประเทศ นครหนานหนิง ได้จัดโครงการ City Insight Tour สำหรับคณะกงสุลอาเซียนประจำนครหนานหนิง ลงพื้นที่ศึกษาศักยภาพของท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง และได้ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลกว่างซีมีแผนที่จะผลักดันให้ท่ารถไฟแห่งนี้เป็นจุดนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ในอนาคต ซึ่งบีไอซีเห็นว่า หาก “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” สามารถเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกผลไม้(ไทย)ได้ จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการส่งออกผลไม้ไทย กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของจีน โดยเฉพาะในช่วงที่จีนมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ที่บริเวณด่านทางบกอย่างเข้มงวด ซึ่งบีไอซีจะเกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดเพื่อนำเสนอกับผู้อ่านในโอกาสต่อไป
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 06 และ 07 มิถุนายน 2565
เว็บไซต์ http://gx.news.com (广西新闻网) วันที่ 03 และ 06 มิถุนายน 2565