กว่างซีชูบท “Hub” โลจิสติกส์ภาคตะวันตกเต็มรูปแบบ
25 Feb 2019ไฮไลท์
- “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) เป็นชื่อเรียกใหม่ของ “เส้นทางมุ่งลงใต้” ซึ่งเป็นข้อริเริ่มระหว่างรัฐบาลจีน(นครฉงชิ่ง) กับประเทศสิงคโปร์
- โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) เป็นหัวใจสำคัญของเส้นทางดังกล่าว โดยมีเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นข้อต่อสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) และเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์เชื่อม “เรือ+รถไฟ” ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีมีความตื่นตัวและเร่งดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นผู้นำด้านการขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจรในภูมิภาคตะวันตกของจีน
ตลอด 20 ปีของการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก (Great West Development) ได้ช่วยให้พื้นที่ภาคตะวันตกของจีนกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเน้นการส่งออก (Export-oriented Economy) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นฐานอุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภท อาทิ ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ การบินและอวกาศ และการผลิตรถยนต์ เมื่อปี 2561 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกมากกว่า 2.4 ล้านล้านหยวน
กล่าวได้ว่า การพัฒนา “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC (เดิมใช้ชื่อว่า เส้นทางมุ่งลงใต้) ตอบโจทย์ความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดต่างประเทศที่มีต่อพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หรือ NDRC (国家发改委) กำลังร่าง “แผนแม่บทเส้นทางการค้าเชื่อมทางบกและทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (西部陆海新通道总体规划) โดยกำหนดกลยุทธ์ให้เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของการพัฒนากรอบ BRI กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเชิงลึกระหว่างจีนกับอาเซียน
“กว่างซี” ในฐานะจุดเชื่อมโยงกรอบยุทธศาสตร์ BRI และเป็นข้อต่อสำคัญของเส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ได้ดำเนินการพัฒนาเส้นทางการค้าดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจในปี 2561 ดังนี้
- พัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ภายใต้โมเดล “ราง+เรือ”และ “ในประเทศ+ต่างประเทศ” เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าที่มีความสะดวกรวดเร็วที่สุดให้กับมณฑลตอนในและภาคตะวันตกของจีน
- เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งระบบรางกับ 5 มณฑล ได้แก่ มหานครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลกานซู่ และเปิดให้บริการงานขนส่งแบบเที่ยวประจำ ปีที่ผ่านมา มีขบวนรถไฟขนส่งรวม 1,154 เที่ยว ปริมาณขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขาออก 5.8 หมื่น TEUs เพิ่มขึ้น 403% และสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปแบบไร้รอยต่อ
- ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ลงได้ 10-30% อัตราค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้วยรถไฟระหว่างมหานครฉงชิ่งกับกว่างซีลดลงจาก 8,000 หยวน/TEU เหลือประมาณตู้ละ 5,000 หยวน
- ย่นระยะเวลาการผ่านพิธีการศุลกากรด้วยระบบ Single Window ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจปล่อยสินค้าและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจ โดยพิธีการขาเข้าใช้เวลาลดลง 60.58% และพิธีการขาออกใช้เวลาลดลง 89.48% ทำให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าจำนวน 2.9 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้นเกือบ 30%
- ขยายขีดความสามารถของรางรถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับงานขนส่ง เช่น สวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน(หนานหนิง) – สิงคโปร์ ระบบคมนาคมขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre – GTC) เพื่อพัฒนาให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีของนครหนานหนิงเป็น “ชุมทางการคมนาคมแบบครบวงจร” ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่สถานีรถไฟตะวันออกบริเวณท่าเรือชินโจว และการขยายหลุมจอดเครื่องบินของสนามบินเป๋ยไห่
สำหรับแผนการทำงานในปี 2562 ทางการกว่างซีจะพัฒนางานบริการ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร เร่งรัดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานีรถไฟในท่าเรือชินโจว พัฒนาเส้นทางเดินเรือระหว่างอ่าวเป่ยปู้กับสิงคโปร์และฮ่องกงอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศเส้นทางอื่น เพิ่มเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งให้ได้ 2,000 เที่ยว และเพิ่มปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็น 3.7 ล้าน TEUs
จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 31 มกราคม 2562
รูปประกอบ www. pixabay.com