กว่างซีชูจุดแข็ง “เส้นทางรถไฟ” เชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้ากับอาเซียน
11 Sep 2013สำนักข่าวซินหัว : ทางการกว่างซีเดินหน้าสร้าง “ความเชื่อมโยง” (Connectivity) เพื่อบูรณาการยุทธศาสตร์การเป็น “ประตูสู่อาเซียน” (Gateway to ASEAN)
ทางการกว่างซีให้ความสำคัญกับการบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค
การรถไฟกว่างซีเป็นหนึ่งในเครื่องมือคมนาคมขนส่งที่แสดงบทบาทความสำคัญในฐานะเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของมณฑล
ปัจจุบัน กว่างซีเป็นมณฑลเดียวของประเทศจีนที่มีเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมต่อกับอาเซียน (เวียดนาม) โดยผ่านอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang City, 凭祥市) เมืองชายแดนที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยของเวียดนามเพียง 167 กิโลเมตร
ความเป็นมาของเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2498 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเปิดการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศ ก่อนจะหยุดให้บริการเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2521 จากสภาวะตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองฝ่าย และกลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2539
เมื่อปี 2546 “นครหนานหนิง” ได้รับการกำหนดเป็นสถานที่จัดงานถาวรของงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) และการเริ่มดำเนินนโบบายลดภาษีบางส่วนทันที (Early Harvest Program) ส่งผลให้สินค้าที่ขนส่งผ่านด่านรถไฟผิงเสียงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในในปีนั้น มีสินค้านำเข้าส่งออกผ่านด่านรถไฟฯ คิดเป็นน้ำหนัก 2.48 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 จนกระทั่งเมื่อปี 2550 ปริมาณสินค้าได้ทะลุหลักล้านตันเป็นครั้งแรกด้วยจำนวน 1.078 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57
“ต้นทุนต่ำ” เป็นจุดแข็งที่ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟมากขึ้น ปัจจุบัน กว่างซีใช้รถไฟส่งออกอุปกรณ์เครื่องจักร วัสดุเหล็ก วัสดุก่อสร้าง และปุ๋ยเคมีไปยังเวียดนาม และมีการนำเข้าสินแร่ รวมถึงสินค้าเกษตรจากเวียดนาม
ปัจจุบัน มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้บริการวันละ 3 เที่ยว มีปริมาณสินค้าส่งออกปีละกว่า 5 แสนตัน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเส้นทาง “รถไฟสายเต๋อป่าว-จิ้งซี” (Debao-Jingxi Railway, 德保–靖西铁路) ในเมืองไป่เซ่อ (Baise City, 百色市) เริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ.2553 และเริ่มเปิดใช้บริการไปแล้วเมื่อ 18 พ.ค.2556
รถไฟสายดังกล่าวเป็นช่วงต่อขยายจากรถไฟสายหนานคุน (นครหนานหนิงกับนครคุนหมิง) โดยขยายเส้นทางออกมายังอำเภอเถียนตง – อำเภอเต๋อป่าว – อำเภอจิ้งซี (อำเภอชายแดนติดเวียดนาม)
ความสำคัญของเส้นทางดังกล่าว ปัจจุบัน มีการใช้สำหรับการขนส่งสินค้าเชิงทรัพยากรจากเวียดนามเป็นหลัก (เช่น สินแร่เหล็ก ถ่านหิน) ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับเวียดนามต่อจากเส้นทางผิงเสียง-ฮานอย
แม้ว่าปัจจุบันรถไฟสายนี้จะวิ่งเฉพาะในกว่างซี ทว่า เส้นทางนี้มีความพร้อมที่จะเชื่อมกว่างซีเข้ากับจังหวัด Cao Bang ของประเทศเวียดนามได้ในอนาคต