กว่างซีชำระบัญชีต่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน ‘ยืนหนึ่ง’ ในจีนตะวันตก ตอบโจทย์การเป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” ได้หรือยัง
11 Mar 2025
“เหรินหมินปี้” (RMB) หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “หยวน” กำลังเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นสกุลเงินหลักของโลกตามแผนการผลักดันให้สกุลเงินหยวนก้าวสู่สากล (RMB Internationalization) ที่รัฐบาลจีนได้วางไว้ โดย “อาเซียน” ถือว่ามีความสำคัญต่อจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล ซึ่ง “หยวน” ก็ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอาเซียนเช่นกัน
ในแผนการผลักดันการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศ กล่าวได้ว่า “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นหนึ่งในเขตการปกครองระดับมณฑลที่รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนเชิงนโยบายด้านต่างๆ มากพอสมควร เพื่อผลักดันการเปิดสู่ภายนอกและขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของเขตปกครองตนเองแห่งนี้

ที่ผ่านมา เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็น “พื้นที่ทดลอง” นโยบายนำร่องการปฏิรูปภาคการเงินหลายด้าน (ก่อนที่จะขยายผลการดำเนินงานทั่วประเทศ) โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมการเงิน (Fintech) ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดนกับชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งล้อตามยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ที่รัฐบาลกลางได้มอบให้กับกว่างซี เช่น จุดทดลองการใช้ระบบบัญชีธนาคารบัญชีเดียวสำหรับการชำระบัญชีเงินหยวนและเงินต่างประเทศ
จากปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้ธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนของกว่างซี โดยเฉพาะการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนของกว่างซีมีมูลค่า ‘ยืนหนึ่ง’ ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตกและ 9 มณฑลชายแดนของประเทศจีนตลอดสิบกว่าปีมานี้ (กว่างซีเริ่มดำเนินนโยบายจุดทดลองการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนเมื่อปี 2553) โดยมี “อาเซียน” เป็นพื้นที่เป้าหมายและเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนของกว่างซี
ปีที่ผ่านมา (ปี 2567) มูลค่าการชำระบัญชีระหว่างประเทศของกว่างซีก็ยังคง ‘ยืนหนึ่ง’ ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตกและ 9 มณฑลชายแดนของจีนเช่นเคย โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน 588,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Overseas Direct Investment หรือ ODI) มีมูลค่า 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นยอดโอนออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 5.03 เท่า

หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้พัฒนานวัตกรรมการทำธุรกรรมเงินหยวนข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งผลักดันการพัฒนาให้ตนเองเป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” (Financial Gateway to ASEAN) โดยมีศูนย์กลางตั้งอยู่ที่ “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town (中国—东盟金融城) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 ย่านการเงินจีน-อาเซียนมีสถาบัน(บริษัท)การเงินเข้าจัดตั้งสถานประกอบการแล้ว 567 ราย ในจำนวนนี้ เป็นสถาบันการเงินรายใหม่ 55 ราย

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงกำลังส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้านการสนับสนุนบริการทางการเงินขั้นกลางและหลังบ้าน (Middle and Back-office) ขณะนี้ ย่านการเงินจีน-อาเซียนมีธุรกิจด้านการสนับสนุนบริการทางการเงินขั้นกลางและหลังบ้าน รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินตั้งอยู่ 37 ราย
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงกำลังส่งเสริมการดำเนิน 5 นโยบายนำร่องทางการเงินในนครหนานหนิงให้เข้าถึงและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การจัดหาเงินทุนระหว่างธนาคาร (Interbank) ด้วยสกุลเงินหยวนข้ามพรมแดน สินเชื่อสกุลเงินหยวนสำหรับโครงการในต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการไหลเวียนของเงินหยวนข้ามพรมแดนแบบสองทาง การลดระเบียบขั้นตอนในการทำธุรกรรมการโอนเงินไปต่างประเทศขององค์กร/สถาบันต่างชาติที่ถือบัญชีสกุลเงินหยวน (หรือที่เรียกว่า Non-Resident Account – NRA) ในประเทศจีน และการโอนสิทธิเรียกร้องสินทรัพย์/สินเชื่อในประเทศให้กับองค์กร/สถาบันในต่างประเทศ (การเปลี่ยนแปลงสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ หรือที่เรียกว่าการโอนหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่าผู้รับโอน ให้เข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทน) ปัจจุบัน การทำธุรกรรมตาม 5 นโยบายนำร่องที่กล่าวมาข้างต้นในนครหนาหนนิง มีมูลค่าสะสมมากกว่า 22,500 ล้านหยวน
บีไอซี เห็นว่า ในมุมกลับกัน “อาเซียน” ก็มีความสำคัญต่อจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล ซึ่ง “หยวน” ก็ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ความร่วมมือในระดับธนาคารกลางสองฝ่ายได้มีการกำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศด้วยเงินหยวน สามารถทำการแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้โดยตรง (Direct quotation) ผ่านระบบ China Foreign Exchange Trading System & National Interbank Funding Center หรือ CFETS (中国外汇交易中心)
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ได้เข้าร่วมใช้งานระบบการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน (Cross-border Interbank Payment System – CIPS/人民币跨境支付系统) ซึ่งการชำระค่าสินค้าผ่านระบบ CIPS ด้วยสกุลเงินหยวน เงินทุนไหลเข้า-ออกได้อย่างคล่องตัว สามารถล็อคอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนได้ทั้ง Onshore และ Offshore ช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) และช่วยลดต้นทุนการค้าข้ามแดนให้กับภาคธุรกิจ
บีไอซี เห็นว่า ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว
ในเชิงนโยบาย “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือด้านการเงินที่ใกล้ชิดกับจีน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการลงนามในความตก SWAP เงินบาทกับเงินหยวน ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศ และมีการขนย้ายเงินสดระหว่างประเทศโดยตรงผ่านสายการบิน
การมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตร โดยเฉพาะในแง่ของการเปิดกว้างภาคการเงินระหว่างประเทศ ช่วยให้มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และภาคธุรกิจก็มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นการดำเนินนโยบายการปฏิรูปภาคการเงิน ‘ระบบบัญชีเดียว’ ที่กล่าวมาข้างต้นจึงมีนัยสำคัญต่อกว่างซีในการยกระดับการเปิดกว้างทางการค้าการลงทุน ซึ่งช่วยขยายผลต่อไปถึงความสัมพันธ์ในทุกมิติระหว่างจีน(กว่างซี)กับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์หนานหนิง เดลี่ (南宁日报) วันที่ 24 มกราคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 22 และ 24 มกราคม 2567
เว็บไซต์ www.lawinfochina.com