เมืองเฉวียนโจวกับความพร้อมการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างช่องแคบไต้หวัน

15 Jul 2013

15 ก.ค. 56 (www.fj.xinhuanet.com) – รายงานข่าวอ้างอิงคำแถลงของนายเจิ้ง ซินหมิง (郑新明) นายกเทศมนตรีเมืองเฉวียนโจว ในการประชุมว่าด้วยการร่วมมือทางการเงินระหว่างช่องแคบไต้หวัน ที่จัดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน ระบุว่าพร้อมเดินหน้าเป็นหน้าด่านสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านธุรกิจการเงินระหว่างช่องแคบไต้หวันอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ในที่ประชุม นางหวง ซาผิง (黄少萍) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเฉวียนโจว ยังระบุด้วยว่า เมืองเฉวียนโจวมีศักยภาพพร้อมเต็มที่ในการดึงดูดนักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเล เนื่องจากชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากมีบรรพบุรุษเป็นชาวเฉวียนโจว ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ดึงดูดชาวจีนโพ้นทะเลให้กลับมาลงทุนและพัฒนาบ้านเกิดของบรรพบุรุษ โดยข้อมูล ณ ปัจจุบัน พบว่าชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกกว่า 130 ประเทศ จะมีชาวจีนที่บรรพบุรุษเป็นชาวเฉวียนโจวกว่า 7.5 ล้านคน ถือได้ว่าเมืองเฉวียนโจวเป็นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวไต้หวันประมาณร้อยละ 44.8 สืบเชื้อสายมาจากที่นี่ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการอนุมัติเขตการลงทุนพิเศษของชาวไต้หวัน อีกทั้ง การค้าขายระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

เมืองเฉวียนโจว (泉州市) ของมณฑลฝูเจี้ยนได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางจีนให้ทำหน้าที่เป็น “เขตนำร่องการปฏิรูปภาคการเงิน” แห่งที่ 3 ของประเทศอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2555 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมืองเวินโจวในมณฑลเจ้อเจียงและเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงไปในช่วงก่อนหน้า โดยตามแผนการระบุว่า เมืองเฉวียนโจวจะเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า รวมทั้งจากชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก อีกทั้งจากนี้ไปอีก 5 ปีเมืองเฉวียนโจวจะมีการพัฒนาระบบสถาบันการเงินท้องถิ่น คิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็กและกลางมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้แทนจีนและไต้หวันได้ร่วมลงนามในความตกลงการค้าภาคบริการระหว่างช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นความตกลงต่อเนื่องจากความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างช่องแคบไต้หวัน (Economic Cooperation Agreement, ECFA) ณ นครเซี่ยงไฮ้ โดยทั้งสองฝ่ายจะเปิดตลาดภาคบริการในหลายประเภท สำหรับในส่วนภาคการเงิน จีนได้เปิดให้บริษัทไต้หวันถือหุ้นในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีนได้ในอัตราส่วนสูงขึ้นเป็นร้อยละ 49 – 51 ตามขนาดและสถานที่ตั้งของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้น อีกทั้ง ยังอนุญาตให้ธนาคารไต้หวันขอจัดตั้งสาขาในะดับตำบลหรือหมู่บ้านได้ จึงเป็นที่คาดการณ์ว่า หลังจากนี้ บทบาทของเมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน ในฐานะศูนย์กลางการเงินใหม่ของจีนจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน