เฉวียนโจวกับการเป็น “เขตนำร่องการปฏิรูปภาคการเงิน”
8 Aug 20138 ส.ค. 56 (www.fj.chinanews.com)- รายงานข่าวระบุว่าการประชุมคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเฉวียนโจว (泉州市) มณฑลฝูเจี้ยน ครั้งล่าสุด ได้แจ้งความคืบหน้าถึงการผลักดันให้เมืองเฉวียนโจวเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน หลังจากที่เมืองเฉวียนโจวได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางจีนให้ทำหน้าที่เป็น “เขตนำร่องการปฏิรูปภาคการเงิน” แห่งที่ 3 ของประเทศอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมืองเวินโจวในมณฑลเจ้อเจียงและเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงไปในช่วงก่อนหน้า โดยจากแผนการ ภายใน 5 ปีเมืองเฉวียนโจวจะมีการพัฒนาระบบสถาบันการเงินท้องถิ่น คิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น
นายฟู่ เฉาหยาง (付朝阳) กรรมาธิการและรองนายกเทศมนตรีเมืองเฉวียนโจว กล่าวเน้นย้ำถึงความพร้อมที่จะดึงดูดสถาบันการเงินนอกจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะไต้หวันให้เข้ามาจัดตั้งสำนักงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เคยจัดคณะออกประชาสัมพันธ์ในไต้หวันแล้วและได้รับการตอบรับอย่างดี
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังรายงานตัวเลขสถิติที่สำคัญ โดยระบุว่าจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ปีนี้ เมืองเฉวียนโจวมียอดเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศรวม 529,882 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20 ยอดเงินให้กู้ยืม 402,735 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4อีกทั้ง ยังมีสถาบันการเงินที่ได้รับรองตามกฎหมายรวมแล้วกว่า 40 แห่ง ทุนจดทะเบียนประมาณ 8,000 ล้านหยวน
ทั้งนี้ เมืองเฉวียนโจวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 11,015 ตร.กม. เมืองเฉวียนโจวมีชื่อเสียงด้านการเป็นที่ตั้งของธุรกิจเอกชนที่มีศักยภาพจำนวนมาก โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของธุรกิจเอกชนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลักของเมืองเฉวียนโจวได้แก่ ปิโตรเคมี สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้าและหมวก วัสดุก่อสร้างและกระเบื้องเคลือบ อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์และการตกแต่งภายใน การท่องเที่ยว อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์และเครื่องจักรกล นอกจากนี้เฉวียนโจวยังเป็นถิ่นกำเนิดของชาวจีนโพ้นทะเลอีกกว่าเกือบสิบล้านคน
“เขตนำร่องการปฏิรูปภาคการเงิน” เมืองเฉวียนโจวจะเน้นมาตรการต่างๆ ที่จะเน้นการออกพันธบัตรให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินโดยใช้เงินทุนภาคเอกชน การขยายช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันให้เข้ามาหมุนเวียนในท้องถิ่นให้มากขึ้น รวมถึงการดึงดูดให้ธนาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไต้หวันเข้ามาเปิดสาขาในเมืองเฉวียนโจวให้มากขึ้น