เงินหยวนเตรียมขึ้นแท่นสกุลเงินสากลอันดับที่ 3 ของโลกภายในปี 2561
26 Jul 2016เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2559 สถาบัน International Monetary Institute ภายใต้มหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University of China) ได้เผยแพร่ รายงานความเป็นสากลของเงินหยวนประจำปี 2559 ในการประชุมสกุลเงินนานาชาติประจำปี 2559 ณ กรุงปักกิ่ง โดยรายงานดังกล่าว คาดการณ์ว่าภายในปี 2561 เงินหยวนจะกลายเป็นสกุลเงินที่มีการใช้จ่าย/ชำระหนี้สินระหว่างประเทศอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกรองจากดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร โดยแซงหน้าเงินเยนและปอนด์สเตอร์ลิง
รายงานระบุว่า แม้ตลาดเงินทั้งภายในและภายนอกจีนมีความผันผวนค่อนข้างสูงในปีที่ผ่านมา แต่การพัฒนาความเป็นสากลของเงินหยวนมีแนวโน้มดีขึ้นโดยตลอด โดยจนถึงสิ้นปี 2558 ดัชนีความเป็นสากลของเงินหยวน (RMB Internationalization Index หรือ RII[1]) อยู่ที่ 3.6 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ร้อยละ 42.9 เมื่อเทียบกับปี 2557 และเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ดัชนีความเป็นสากลของดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 54.97 ยูโรอยู่ที่ 23.71 ปอนด์สเตอร์ลิงอยู่ที่ 4.53 และเยนอยู่ที่ 4.29)
นอกจากนี้ รายงานระบุถึงปัจจัยที่ผลักดันให้ดัชนีความเป็นสากลของเงินหยวนเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) ในภาพรวม เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพและจีนผลักดันการปฏิรูปด้านการเงิน (2) การใช้เงินหยวนในดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital and Finance Account[2]) มีมากขึ้น (3) ระบบการให้บริการของเงินหยวนสมบูรณ์แบบมากขึ้น (4) ความคืบหน้าของโครงการตามเส้นทาง “One Belt One Road” และความร่วมมือทางการเงินระหว่างจีนกับยุโรปมีเพิ่มขึ้น (5) ดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าทำให้การใช้เงินหยวนในการกำหนดราคาและชำระเงินในการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตัดสินใจรับเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงินกลาง (SDR) โดยเงินหยวนจะมีน้ำหนักอยู่ที่ร้อยละ 10.92 และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การใช้เงินหยวนเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยในการทำ การค้าขายกับจีน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย
[1] คำนวณจากสัดส่วนของการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศ การเงินระหว่างประเทศ และทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการในทั่วโลก โดยมีค่า 0-100 ซึ่งค่า RII ที่สูง แสดงให้เห็นถึงความเป็นสากลของเงินสกุลนั้นๆ
[2] แสดงความเคลื่อนไหวของเงินทุนระหว่างประเทศที่ไหลเข้า/ออกประเทศนั้น ๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเงินทุนดังกล่าวอาจเป็นการลงทุนทางตรง หรือทางอ้อม เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล การซื้อหุ้น การฝากเงินกับธนาคารหรือการให้กู้ยืม เป็นต้น