สิงคโปร์เปิดบริการชำระเงินหยวน ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเงินหยวนของอาเซียน
8 Jul 2013ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งของโลก สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าขายเงินหยวนของภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงเอเชียตะวันออก อาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีความได้เปรียบจากการที่ประชากรร้อยละ 75 มีเชื้อสายจีน รวมทั้งมีระบบการเงินพื้นฐานที่สมบูรณ์ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการซื้อขายเงินหยวน
ช่วงหลายปีมานี้ การค้าจีน-อาเซียนได้เติบโตอย่างพุ่งกระฉูด โดยยอดรวมมูลค่าการค้าเติบโตจาก 22,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.ในปี 2545 เป็น 195,800 ล้านดอลลาร์ สรอ.ในปี 2555 และมีธุรกรรมเงินหยวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม ปี 2555 สิงคโปร์ได้อนุมัติให้ธนาคารแห่งชาติจีน (BOC) และธนาคารอุตสาหกรรมและธุรกิจจีน (ICBC) ดำเนินธุรกิจแบบครบวรจรในพื้นที่ โดยสามารถเปิดสาขาที่สิงคโปร์มากที่สุดถึง 25 สาขา หลังจากนั้น ในวันที่ 7 มีนาคม 2556 ธนาคากลางแห่งประชาชนจีน (PBOC) และธนาคารกลางแห่งประเทศสิงคโปร์ (MAS) ได้ลงนามในข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวน-เงินดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเพิ่มยอดรวมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินจาก 150,000 ล้านหยวน / 30,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 300,000 ล้านหยวน / 60,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ธนาคาร ICBC ได้เริ่มเปิดให้บริการการชำระเงินหยวน (Yuan-Clearing Service) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นมาตรการของสิงคโปร์ที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเงินหยวนในภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศเดียว (นอกจากจีน) ที่มีธนาคารดำเนินธุรกรรมการชำระเงินหยวน ซึ่งทำให้สิงคโปร์มีความได้เปรียบจากการที่มีส่วนแบ่งเงินหยวนที่มากกว่าในตลาดเมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์กลางการเงินแห่งอื่นของโลก อาทิ ลอนดอน หรือ ซิดนีย์ เป็นต้น
การแข่งขันระหว่างฮ่องกงและสิงคโปร์มีมาโดยตลอด โดยฮ่องกงได้เปิดให้บริการชำระเงินหยวนตั้งแต่ปี 2547 นักวิจัยเห็นว่า ในฐานะที่เป็นเขตบริหารพิเศษของจีน PBOC จะถือฮ่องกงเป็นแหล่งสำคัญมากที่สุดโดยสิงคโปร์ไม่น่าจะสามารถแซงหน้าฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางพื้นฐานการซื้อขายเงินหยวนได้ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีปัญหาจากการมีเงินหยวนสำรองที่น้อยมาก ซึ่งสิงคโปร์มีเงินหยวนสำรองเพียง 60,000 ล้านหยวนเมื่อเทียบกับฮ่องกงที่มี 700,000 ล้านหยวน ความท้าทายอีกข้อหนึ่งสำหรับสิงคโปร์คือ ในช่วงหลายปีมานี้ ต่างกับเงินดอลลาร์ฮ่องกง เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในสิงคโปร์แรงจูงใจในการถือสินทรัพย์ในรูปเงินหยวนมีน้อยกว่าที่ฮ่องกง นอกจากนั้น ในอนาคต ฮ่องกงคงยังมีความสำคัญพิเศษในธุรกิจการซื้อขายเงินหยวนเนื่องจาก PBOC จะทำการทดลองการให้อิสระแก่เงินหยวนมากขึ้นที่ฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง แต่สิงคโปร์ก็คงจะไม่ละทิ้งความพยายามโดยแสดงบทบาทสำคัญต่างๆ ในการส่งเสริมความเป็นสากลของเงินหยวน โดยอาศัยความได้เปรียบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เชื่อว่าสิงคโปร์จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ตลาดอาเซียนมีการชำระด้วยเงินหยวนมากขึ้นอย่างแน่นอน