กว่างซีดันหยวนค้าเสรี ชูนโยบาย “เขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน”
14 Jan 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีเร่งผลักดันการพัฒนาและปฏิรูประบบการเงิน เพื่อส่งเสริมให้ “หยวน” เป็นสกุลเงินหลักในระบบการค้าการลงทุน โดยเริ่มจากพื้นที่ชายแดนกับประเทศสมาชิกอาเซียน และเอเชียใต้
เมื่อวันที่ 9 ม.ค.56 ที่ผ่านมา นายเผิง ชิง หัว (Peng Qing Hua, 彭清华) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เป็นประธานการประชุม เพื่อวางแนวทางปฏิบัติในการผลักดันการพัฒนาและปฏิรูปเงินหยวนของกว่างซี โดยเฉพาะการจัดตั้ง “เขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน”
บทบาทสำคัญของการจัดตั้งเขตนำร่องฯ เป็นยุทธศาสตร์การต่างประเทศในการบริการประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นกลไกกระตุ้นความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกที่มีประสิทธิภาพระหว่างจีนกับอาเซียน และเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศ และเป็นตัวผลักดันให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเงินข้ามพรมแดนของกว่างซีบรรลุความจริง นายเผิงฯ ให้ข้อมูล
ในที่ประชุมได้มีการประกาศ “ข้อคิดเห็นว่าด้วยการดำเนินการจัดตั้งเขตนำร่องการปฏิรูปเงินตามแนวชายแดนกว่างซี” และมีการวางกรอบและแนวทางการผลักดันการจัดตั้งเขตนำร่องฯ อย่างเป็นรูปธรรม ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ผลักดันการพัฒนาการเงินเป็นตัวนำร่อง ทำให้การพัฒนาทางการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
สอง ผลักดันความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกภาคการเงิน และแสดงศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งติดประเทศสมาชิกอาเซียน ดำเนินนโยบายการเงินชายแดนและการเงินข้ามแดน ยกระดับบทบาทความสำคัญภาคการเงินของกว่างซีในพื้นที่อาเซียน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ รวมถึงเมืองฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน
สาม ผลักดันความหลากหลายทางการเงิน เช่น การพัฒนาตลาดการเงินร่วมในรูปของรัฐวิสาหกิจ ร่วมทุน ร่วมประกอบการ และองค์กรเอกชน เพื่อสร้างระบบการเงินที่มีมิติและความหลากหลาย
สี่ ผลักดันการบริการทางการเงินสำหรับ “3 เกษตร” (เกษตรกร เกษตรกรรม และเกษตรชนบท) ทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์โดยแท้จริงจากการสร้างสรรค์และปฏิรูปการเงิน
ห้า ผลักดันการบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจขนาดย่อย (Micro-Enterprise) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก และส่งเสริมกระตุ้นการสร้างงานสร้างอาชีพในสังคม
แนวทางการปฏิรูปการเงินของกว่างซี อาทิ การสร้างสรรค์ธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนในเขตนำร่องฯ การปฏิรูประบบการเงิน การพัฒนาตลาดเงินทุนแบบหลายมิติ การผลักดันการพัฒนาตลาดประกันภัย การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การเงินและรูปแบบการบริการสำหรับภาคชนบท และการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน เป็นต้น
การขยายขอบเขตการชำระบัญชีต่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน การผลักดันการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนระหว่างเขตนำร่องฯ กับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในเอเชียใต้ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ระบบสถิติ และระบบบัญชี
การขยายขอบเขตการดำเนินธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนสำหรับ “บัญชีส่วนบุคคล” ให้เต็มพื้นที่นำร่องฯ ก่อนจะขยายสู่การลงทุนโดยตรงทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นลำดับถัดไป
ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและการลงทุนด้วยสกุลเงินหยวนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในเอเชียใต้ อาทิ การพัฒนาธุรกรรมการเงินข้ามแดน “สินเชื่อแบบทวิภาคี” (Bilateral loans) ด้วยสกุลเงินหยวนในพื้นที่นำร่องฯ เพื่อผลักดันให้สกุลเงินหยวนสามารถแปลงสภาพได้ภายใต้บัญชีทุน
ด้านการบูรณาการระบบโครงสร้างด้านการเงิน ทางการกว่างซีพร้อมให้การสนับสนุนสถาบันการเงินและประกันภัยที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามเงื่อนไขจากประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชียใต้เข้าจัดตั้งสำนักงานนิติบุคคลและสำนักงานสาขาในพื้นที่นำร่องฯ ทั้งในรูปแบบทุนต่างชาติหรือแบบร่วมทุนในภาคธุรกิจธนาคาร ธุรกิจพันธบัตร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ธุรกิจกองทุน และธุรกิจเงินทุนและการให้เช่าแบบลีสซิ่ง
ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ทางการกว่างซีจะผลักดันจุดทดลองการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสำหรับบัญชีส่วนบุคคล พร้อมทั้งอนุญาตให้บุคคลที่มีคุณสมบัติสอดคล้องและทำงานอยู่ในเขตนำร่องฯ สามารถลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในพันธบัตร
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายว่าแผนงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 1 ปี เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี และโครงการสำคัญต่าง ๆ เห็นผลสำเร็จภายใน 5 ปี โดยเริ่มต้นจากการสร้างระบบการเงินสมัยใหม่ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบายจุดทดลองการชำระบัญชีการค้าด้วยสกุลเงินหยวนเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ถึงธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา กว่างซีมียอดการชำระบัญชีฯ คิดเป็นมูลค่า 202,350 ล้านหยวน สูงเป็นอันดับหนึ่งจากทั้งหมด 12 มณฑลทางภาคตะวันตก และ 8 มณฑลชายแดนของประเทศจีน
ในงานประชุมมีสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ธนาคารประชาชนจีน )The People’s Bank of China: PBOC, 中国人民银行) สำนักบริหารงานปกครองเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า (Hong Kong and Macao Affairs Office of The State Council, 国务院港澳办) คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารจีน (China Banking Regulatory Commission: CBRC, 中国银监会) คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ (China Securities Regulatory Commission: CSRC, 中国证监会) คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการประกันภัย (China Insurance Regulatory Commission: CIBC, 中国保监会)
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย การที่ทางการกว่างซี(จีน)ดำเนินนโยบายส่งเสริมการชำระบัญชีการค้าการลงทุนด้วยสกุลเงินหยวนจะเป็นการเพิ่มทางการเลือกในการชำระบัญชีระหว่างไทยกับจีน และช่วยลดต้นทุนการประกอบกิจการ รวมถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการนักลงทุนไทยได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนในภาคการลงทุน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดการเงินและการประกันภัยจีนได้เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจต่างชาติที่มีศักยภาพความพร้อมในการเข้าไปลงทุนในประเทศจีน
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาลกลางชู “กว่างซี ยูนนาน” เป็นพื้นที่นำร่องการปฏิรูปภาคการเงินตามแนวชายแดน (06 ธ.ค. 2556)
– รัฐบาลกลางอนุมัติ “ตงซิง” ของกว่างซีเปิดธุรกรรมเงินหยวนบัญชีส่วนตัวได้แล้ว (05 ส.ค. 2556)