กรอบ Pan Beibu-Gulf หนุนเงินหยวน “ก้าวออกไป”…โอกาสใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม
16 May 2014สำนักข่าวซินหัว : ชาติสมาชิกในกรอบยุทธศาสตร์รอบอ่าวเป่ยปู้เห็นชอบให้ผลักดัน “ท่าเรือโลจิสติกส์” และ “การเงิน” เป็น 2 สาขาหลักในระยะ 5 ปีแรก (ตั้งแต่ปี 2557-2562)
นับตั้งแต่รัฐบาลกลางประกาศนโยบายปฏิรูปภาคการเงิน เพื่อส่งเสริมความเป็นสากลของสกุลเงินหยวนในเวทีโลก โดยมีเป้าหมายนำร่องกับ “อาเซียน” ทำให้ธนาคารรัฐและธนาคารท้องถิ่นจีนต่างดำเนินกลยุทธ์ เพื่อสนองรับนโยบายส่วนกลาง
เขตฯ กว่างซีจ้วงในฐานะ “ประตูสู่อาเซียน” และเป็นมณฑลมีกลไกความร่วมมือที่หลากหลายกับชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้” (Pan Beibu-Gulf Economic Cooperation)” กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่เกิดขึ้นใหม่ภายในกรอบ 10+1 (จีนกับอาเซียน) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 49
ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (China-ASEAN Senior Economic Official’s Meeting on Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation, 中国–东盟泛北部湾经济合作高官会) ที่จัดขึ้น ณ นครหนานหนิง เขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้เห็นชอบผ่าน “กรอบยุทธศาสตร์แผนความร่วมทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ระหว่างจีนกับอาเซียน (Roadmap for China-ASEAN Pan Beibu–Gulf Economic Cooperation (Strategic Framework))
กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว ระบุว่า ในระยะ 5 ปีแรก (ตั้งแต่ปี 2557-2562) จะเน้นผลักดัน 2 สาขาใหญ่ คือ “ท่าเรือโลจิสติกส์” และ “การเงิน” โดยสาขาการเงินครอบคลุมการเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) การเงินสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Financing) และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน
แนวทางดังกล่าวสอดรับการนโยบายที่รัฐบาลกลางจีนประกาศให้เขตฯ กว่างซีจ้วง (กับมณฑลยูนนาน) เป็น “เขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน” ซึ่งมี “อำเภอระดับเมืองตงซิง” เป็นพื้นที่นำร่องภายใต้นโยบายเขตทดลองการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกระดับชาติอำเภอระดับเมืองตงซิง (Guangxi Dongxing Key Experimental Zone For Development and Opening-up, 广西东兴国家重点开发开放试验区)
ตามรายงาน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.56 ที่รัฐบาลกลางอนุมัติให้ “ตงซิง” ของกว่างซีสามารถดำเนินการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนสำหรับ “บัญชีส่วนบุคคล” เป็นแห่งที่ 2 ของประเทศต่อจากเมืองอี้อูของมณฑลเจ้อเจียง ส่งผลให้ยอดการชำระเงินหยวนข้ามพรมแดนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูล ณ ต้นเดือน พ.ค.57 พบว่า ยอดการชำระบัญชีได้ทะลุไปถึงหลัก 1 หมื่นล้านหยวนแล้ว ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า (YoY)
ความเคลื่อนไหวของธนาคารในเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีต่อนโยบาย “เงินหยวน” เริ่มต้นจากเมื่อ 28 มิ.ย.54 ธนาคาร ICBC (Industrial and Commercial Bank of China, 中国工商银行) ได้เปิด “ศูนย์บริการธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนจีน-อาเซียน” (China-ASEAN RMB Cross-Border Clearing and Settlement Center(Nanning), 中国–东盟人民币跨境清算(结算)中心)) ในนครหนานหนิง
ตามมาด้วยธนาคาร Guangxi Beibu-Gulf (广西北部湾银行) เมื่อ 29 ธ.ค.54 ได้เปิด “ศูนย์บริการธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนจีน-อาเซียน” และเคาท์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศโดยตรงระหว่างเงินหยวนกับเงินดอง(เวียดนาม) รวมทั้งเปิดให้บริการธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราและชำระบัญชีกับเวียดนาม
ในปีถัดมา (13 ก.ย.55) ธนาคาร BOC (Bank of China, 中国银行) สาขากว่างซี ได้เปิดให้บริการเคาท์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศโดยตรงระหว่างเงินดองของเวียดนามกับเงินหยวน
มาในปีนี้ (25 เม.ย.57) ธนาคาร ABC (Agricultural Bank of China, 中国农业银行) ได้เปิดป้าย “ศูนย์ธุรกรรมเงินตราจีน(เขตทดลองตงซิง)-อาเซียน” (China(Dongxing Experimental Zone)-ASEAN Currency Business Center, 中国(东兴试验区)–东盟货币业务中心)ในเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนจีน(ตงซิง)-เวียดนาม(Mong Cai)
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พ.ค.57 ที่ผ่านมา ธนาคาร CCB (China Construction Bank, 中国建设银行) เพิ่งจัดพิธีเปิด “ศูนย์ธุรกรรมการเงินสกุลเงินหยวนข้ามแดนจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Cross-border RMB Business Center, 中国–东盟跨境人民币业务中心) ในนครหนานหนิง
จึงกล่าวได้ว่า ปี 57 มานี้ การ “ก้าวออกไป” ของสกุลเงินหยวนในอนุภูมิภาครอบอ่าวเป่ยปู้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก
ชาติสมาชิกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ระบบสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ” ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันความเป็นสากลของ “หยวน” ให้สกุลเงินหยวนเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักที่ใช้ในการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคอ่าวเป่ยปู้อย่างมีเสถียรภาพ
นายสวี่ หนิง หนิง (Xu Ning Ning, 许宁宁) เลขาธิการสภาธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Council, 中国–东盟商务理事会) กล่าวว่า การส่งเสริมความร่วมมือภาคการเงินในอนุภูมิภาครอบอ่าวเป่ยปู้ ไม่เพียงเป็นการสนับสนุนความร่วมมือภาคการค้าและการลงทุนในพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสทางความร่วมมือให้กับธุรกิจการเงินในอนุภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจให้กับวิสาหกิจภาคการเงินให้มากขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
ช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนกับชาติสมาชิกรอบอ่าวเป่ยปู้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น อาทิ การวางแผนการเงินและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ การจัดตั้งหน่วยงานสาขาการเงินระหว่างกัน การพัฒนาความหลากหลายของกลไกการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน การพัฒนาระบบสินเชื่อธุรกิจและตลาดทุน
นับตั้งแต่ประเทศจีนเริ่มดำเนินนโยบายจุดทดลองการชำระบัญชีการค้าต่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนเมื่อปี 52 จนถึงกลางปี 55 พบว่า ยอดการชำระบัญชีสะสมระหว่างจีนกับอาเซียนมีมากกว่า 1.12 ล้านล้านหยวน
ธนาคารกลางจีนได้ร่วมลงนามข้อตกลงทวิภาคีสวอปเงินตรา (Currency Swap) กับธนาคารชาติของอาเซียน ยอดรวมมากกว่า 1.4 ล้านล้านหยวน
นอกจากนี้ ข้อตกลงสวอปเงินตราแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันพัฒนาคลังสำรองเงินตราระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย การเข้าร่วมจัดตั้ง “กองทุนความร่วมมือเพื่อการลงทุนจีน-อาเซียน”
อาเซียนบางประเทศได้กำหนดให้ “สกุลเงินหยวน” เป็น “เงินสำรองระหว่างประเทศ”
ข้อมูลจนถึง ณ กลางปี 56 ธนาคารทุนจีนได้ “ก้าวออกไป” ในประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ เพื่อจัดตั้งธนาคาร (นิติบุคคล) 3 ธนาคาร สาขาย่อย 16 แห่ง และสำนักงานตัวแทน 1 แห่ง ขณะที่ธนาคารจากชาติอาเซียน 5 รายได้เข้ามาจัดตั้งธนาคาร (นิติบุคคล) ในประเทศจีน จำนวน 7 ธนาคาร
ในประเทศสิงคโปร์ ธนาคาร ICBC สาขาสิงคโปร์ ได้เปิดให้บริการบริการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนตั้งแต่เดือน พ.ค.56 จนถึงต้น เม.ย.57 พบว่า มียอดการชำระบัญชีทะลุ 10 ล้านล้านหยวน
ยอดสูงสุดของการทำธุรกรรมการชำระบัญชีมีการเพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านหยวนต่อวัน เป็นเกือบ 3 แสนล้านหยวนต่อวัน