KPMG: การบริโภคสินค้าหรูออนไลน์ของชาวจีนครองสัดส่วนร้อยละ 70
27 Feb 2014ช่วงหลังๆ มานี้ไม่ค่อยเห็นผู้บริโภคชาวจีนต่อคิวซื้อของหรูหราฟุ่มเฟือยหน้าร้านแบรนด์เนมต่างๆ ปรากฏว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่นิยมซื้อของฟุ่มเฟือยผ่านระบบออนไลน์นี่เอง !! ผลวิจัยล่าสุดของเคพีเอ็มจี (KPMG) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชี้ว่า ตามการใช้สมาร์ทโฟน (Smartphone) อย่างทั่วถึงในจีน ทำให้การช้อปปิ้งของฟุ่มเฟือยผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่เปลี่ยนไป โดยนิยมชำระเงินซื้อของฟุ่มเฟือยผ่านระบบออนไลน์ ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 70
ผลสำรวจดังกล่าวมาจากการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย 10,200 รายในจีน ซึ่งดำเนินการร่วมกันโดย KPMG Glamour-sales (เว็บไซต์ขายปลีกสินค้าฟุ่มเฟือยในภูมิภาคเอเชีย) และ Mogujie (ร้านค้าออนไลน์ที่เจาะจงตลาดวัยรุ่นหญิงจีน) โดยผลสำรวจระบุว่า ปริมาณการช้อปปิ้งออนไลน์กำลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) และโทรศัพท์เคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น
ตัวเลขสถิติชี้ว่า ในจำนวนผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย 10,200 รายของจีนดังกล่าว มีผู้บริโภคร้อยละ 70 ช้อปปิ้งหรือค้นหาข้อมูลสินค้าฟุ่มเฟือยโดยผ่านคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปทุกวัน และมีผู้บริโภคร้อยละ 60 ใช้สมาร์ทโฟนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทุกวัน นอกจากนี้ ในการช้อปปิ้งออนไลน์ผู้บริโภคมักจะใช้จ่ายมากกว่ารูปแบบการช้อปปิ้งทั่วไป โดยผลสำรวจชี้ว่า การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวในการช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งล่าสุดของผู้บริโภคอยู่ที่ 1,515 หยวน และมีผู้บริโภคร้อยละ 17 ใช้จ่ายมากกว่า 2,000 หยวนในการช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งล่าสุด นอกจากนี้ ผู้บริโภคจีนในเมืองระดับชั้นต้นใช้จ่ายออนไลน์ 1,640 หยวนเฉลี่ยต่อหัว มากกว่าเมืองอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 1,350 หยวน
สำหรับวิธีการชำระเงิน ปรากฏว่า ผู้บริโภคได้เปลี่ยนจากเลือกชำระเงินเมื่อได้รับสินค้า (Cash on Delivery) เป็นการชำระเงินออนไลน์ โดย 5 ปีก่อนหน้าผู้บริโภคเลือก Cash on Delivery สัดส่วนถึงร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันการชำระเงินออนไลน์กลับมาสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ขณะเดียกัน ผู้บริโภคชาวจีนก็ไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์กับการช้อปปิ้งสินค้าฟุ่มเฟือนออนไลน์ โดยผู้บริโภคร้อยละ 78 เป็นห่วงว่า สินค้าฟุ่มเฟือยที่ซื้อจากออนไลน์อาจเป็นของปลอม มีผู้บริโภคร้อยละ 48 เป็นห่วงว่า ของที่ได้รับจริงไม่ตรงกับของที่แสดงในเว็บไซต์ และมีผู้บริโภคอีกร้อยละ 51 เป็นห่วงว่า ขนาดของสินค้าจะเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีผูเบริโภคเป็นห่วงเรื่องบรรจุภัณฑ์และโลจิสติกส์
อย่างไรก็ดี ช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดต่อไป และการใช้จ่ายออนไลน์ของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนกัน